กสอ.จับมือ สวทช.ดันSMEs
สู่อุตสาหกรรมแห่งนวัตกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เร่งเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และพัฒนานวัตกรรม (Innovation) นำร่อง 5 อุตสาหกรรมดาวเด่น อาทิ ด้านยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ รองรับ10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล มุ่งหวังสร้างมูลค่าเพิ่มในภาพรวมให้กับอุตสาหกรรมไทยได้กว่าร้อยละ 15
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การส่งเสริมและพัฒนา SMEs ของไทยในปัจจุบันจำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs โดยเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และพัฒนานวัตกรรม (Innovation) เพื่อยกระดับและสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ ดังนั้น ภาครัฐจึงผลักดันการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาและยกระดับ SMEs ตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผ่านการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยมีเป้าหมายที่จะใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมไทย โดยเน้น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
ทั้งนี้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ในเชิงนวัตกรรม ซึ่งการจะพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายได้นั้นงานวิจัยเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงหารือเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมมือกับสวทช. เพื่อผลักดันงานด้านวิจัยและพัฒนา และการเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบการให้มีผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานผ่านการทดสอบรับรอง เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายได้อย่างมีศักยภาพและยั่งยืน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึง การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทย และความร่วมมือในครั้งนี้ ว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีพันธกิจหลักในด้านการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและสังคม ซึ่ง สวทช. ถือเป็นหน่วยงานที่มีความเข้มแข็งทางด้านการวิจัยและพัฒนามีระบบการถ่ายทอดและบริหารจัดการเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีความพร้อมด้านบุคลากรในการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และช่วยเหลือให้ภาคอุตสาหกรรมมีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้เพิ่มผลิตภาพ คุณภาพ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นข้อต่อสำคัญที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงงานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ดี การส่งต่อโอกาสการเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ได้ ก็ด้วยความร่วมมือและการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่หลัก ในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมโดยตรง คือ กสอ. ดังนั้นเพื่อร่วมกันปักธงนวัตกรรมให้เป็นเครื่องมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจ และนำความเข้มแข็งของทั้งสองหน่วยงานได้แก่ กสอ. และ ฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สวทช. ในการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็วและสร้างความสมบูรณ์ให้กับข้อต่อของกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาและการเสริมสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมในครั้งนี้ อันจะเป็นการนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ และนำประเทศก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งนับเป็นการสร้างอนาคตประเทศไทยร่วมกันให้มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน
ดร.พิเชฐ กล่าวอีกว่า SMEs นอกเหนือจากสิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยผลักดันและพัฒนาให้มีความสามารถเชิงธุรกิจแล้ว ยังมีข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากร อาทิ ช่างเทคนิค วิศวกร และนักวิจัย รวมถึงข้อจำกัดด้านนวัตกรรมในภาคการผลิต การที่ 2 กระทรวงเข้ามาร่วมมือกัน จะเป็นการต่อยอดการทำงานอย่างชัดเจน โดยเมื่อ SME เข้ามาร่วมมือและมีเจตนาที่แน่ชัดว่าอยากจะพัฒนาตนเอง กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สามารถนำนักวิจัยที่มีอยู่ทั้งที่อยู่ในกระทรวงและหน่วยงานพันธมิตรในมหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิจัยต่างๆ ให้มาสนับสนุนภาคเอกชน เพื่อให้สินค้าและบริการของ SMEs สามารถแข่งขันได้ ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยต้องร่วมมือกันทั้ง 3 ฝ่าย และผู้ประกอบการต้องยอมลงทุนด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการสร้างนวัตกรรม และต้องมาบูรณาการการทำงานกับภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐได้ให้การสนับสนุนเรื่องการหักลดหย่อนภาษีมากพอสมควรแล้ว รวมถึงการสนับสนุนด้านกำลังคนและเทคโนโลยี
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กสอ. ได้ดำเนินการพัฒนานำร่องใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไบโอพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ และความร่วมมือด้านบูรณาการการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาส่งเสริมกิจการอื่นในสาขาอุตสาหกรรมหลักที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติมในอนาคตโดยทั้ง 2 หน่วยงาน มีขอบเขตความร่วมมือกันในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ให้ได้มาตรฐานและมีกระบวนการในการทดสอบ ส่งเสริมการออกแบบ โดยนำเอางานวิจัยและเทคโนโลยีในด้านการผลิตต่างๆ เข้ามาใช้ ตลอดจนการสนับสนุนของ สวทช. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพื่อยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้น ยังมีการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาบุคลากรสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือดังกล่าวจะสามารถทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs จะยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในภาพรวมให้กับอุตสาหกรรมไทยได้กว่าร้อยละ 15
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม / สวทช. มีความมุ่งมั่นที่จะนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลักดันงานวิจัยและพัฒนาสร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทย ให้มีการผลิตที่ได้มาตรฐานผ่านการทดสอบ และยกระดับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมด้านยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยผ่านกลไกทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำด้านวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ การบริหารการผลิต ปรับปรุงกระบวนการผลิต และการวิเคราะห์และทดสอบ รวมถึงการอบรมสัมมนาและการจัดหาทรัพยากรสนับสนุนที่จำเป็น
ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2559 จะมีโครงการนำร่องส่งต่อผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการของทั้ง 2 ฝ่าย โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะสนับสนุนเรื่องบริหารจัดการธุรกิจ ฝึกอบรมด้านการเงิน และการตลาด ส่วน สวทช. จะบริหารโครงการเชิงลึกเพื่อพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีการผลิตและสร้างนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนไทยให้มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้นและยั่งยืน โดย สวทช. มีศักยภาพและความพร้อมในการดำเนินงานได้ทันทีและสามารถขยายบริการได้ครอบคลุมทุกจังหวัดสำคัญของไทย ซึ่งที่ผ่านมาสามารถสนับสนุน SMEs ให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องกว่า 15,000 ราย เป็นต้น
นอกจากนี้ดร.ณรงค์ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม / สวทช. จะดำเนินงานโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปประจำปี 2559 ในกิจกรรมการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งรับสมัครผู้ประกอบการเข้ารับการอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในระหว่างวันที่ 23 – 24 ธันวาคม 2558 เวลา 8.30 -17.30 น. ณ ห้องอัมพวา ชั้น 10 โรงแรมวินเซอร์ สวีท แอนด์ คอนเวนชั่น ซอยสุขุมวิท 20 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นายปัญญวัฒก์ วิรัชวงศ์ โทรศัพท์ 02-644-8150 ต่อ 81877 หรือ 089-381-8621 และ นางภัคจิรา สุขสว่าง โทรศัพท์ 02 -564-7000 ต่อ 1363 หรือ 081-551-7859
ภายในงานมีการจัดแสดงสินค้าเด่นๆ จากผู้ประกอบการ SMEs หลายรายด้วยกัน