ก.อุตฯหนุนการเกษตรแปรรูป
เร่งพัฒนาSMEs ผ่าน “โอ-ปอย”
กระทรวงอุตฯเดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI มุ่งเสริมความรู้SMEs ให้นำไปปรับใช้พัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เผยปี 2558 สามารถช่วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรทุกประเภท 1,041 ราย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,600 ล้านบาท
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ เป็นภารกิจเร่งด่วนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยโดยมุ่งเน้นช่วยเหลือภาคธุรกิจเอสเอ็มอีและโอทอป รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้หมุนเวียน ผ่านกองทุนและโครงการต่างๆ อย่างชัดเจน ซึ่งระยะเวลาต่อจากนี้ ล้วนมุ่งสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในที่ระดับจุลภาคมากขึ้น
กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นสาขาที่มีศักยภาพสูง เพราะนอกจากเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการแล้ว เมื่อมองทั้งห่วงโซ่อุปาทานยังเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก ที่สำคัญคือ ใช้วัตถุดิบผลิตผลทางการเกษตรในพื้นที่ เช่น ข้าว ยาง ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน นม ผัก–ผลไม้ต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นมีการหมุนเวียน จากการรับซื้อผลผลิต การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ การลงทุน การจ้างงาน การขนส่ง บริการ ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้น
โครงการหนึ่งที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 คือ โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในภูมิภาค หรือOPOAI โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการ OPOAI คือ การพัฒนาขีดความสามารถของสถานประกอบการให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น โดยการสร้างกระบวนการทำงานภายในให้เข้มแข็ง ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งเมื่อระบบภายในเข้มแข็งมีภูมิคุ้มกันที่ดีแล้ว ก็จะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง และสามารถรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าได้
ในการดำเนินโครงการฯ มีการจัดจ้างที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าไปให้ความช่วยเหลือปรึกษาแนะนำสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการผ่านแผนงานพัฒนาที่ถือเป็นภารกิจหลักของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมตลอดโซ่อุปาทานใน 6 ด้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการพัฒนาแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย 1.การบริหารจัดการโลจิสติกส์ เพื่อปรับปรุงกระบวนการทางด้านโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการขนส่งให้ต่ำลง 2. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือลดต้นทุนการผลิต โดยปรับปรุงกระบวนการด้านการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและต้นทุนที่ต่ำลง
3.การปรับปรุงคุณภาพและการพัฒนางาน เพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพที่ดี 4. การลดต้นทุนพลังงาน เพื่อให้องค์กรสามารถลดต้นทุนการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว 5.การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความพร้อมขององค์กรในการยื่นขอรับรองมาตรฐานต่าง ๆ และ 6. กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด โดยการวางแผนการตลาด รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตามผลการดำเนินโครงการในปี 2558 ซึ่งได้พัฒนายกระดับ 158 สถานประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ในปี 2559 โครงการยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการรับสมัครผู้ที่ต้องการจะเข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพของสถานประกอบการให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาจนถึงปี 2558 โครงการฯ ได้ช่วยเหลือสถานประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรทุกประเภท จำนวน 1,041 ราย สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 3,600ล้านบาท โดยวัดจากการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงยอดขายที่เพิ่มขึ้น
สำหรับสถานประกอบการที่ได้เข้าร่วมโครงการโอปอยนั้น จะได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งทางโครงการโอปอย จะส่งทีมที่ปรึกษาของโครงการเข้าไปช่วยท่านในการพัฒนาซึ่งในการทำงานจะเป็นการเจาะลึกข้อมูลของสถานประกอบการการของท่านโดยเฉพาะ โดยทีมงานที่ปรึกษาจะเข้าไปศึกษาข้อมูลของสถานประกอบการจากคณะผู้บริหารของสถานประกอบการ เพื่อดูว่าสมควรที่เข้าพัฒนาในแผนงานไหนมากที่สุด เมื่อได้ข้อสรุปทางทีมที่ปรึกษาจะมีแผนการดำเนินงานให้ปฏิบัติจริง และติดตามผลพร้อมทั้งคำปรึกษาเป็นระยะ ๆ ในระยะเวลาการทำงานของที่ปรึกษาประมาณ 8-10 วันทำการ รวมระยะเวลาในการปฏิบัติงานโดยประมาณคือ 4-6 เดือน จึงจะเสร็จสิ้นโครงการ
ประโยชน์ที่ทางสถานประกอบการได้รับโดยตรงที่เห็นเด่นชัดมากที่สุดคือ ได้รับรู้ถึงข้อบกพร่องของสถานประกอบการเองว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิต การบริหารงาน และอื่น ๆ ที่บางครั้งสถานประกอบการอาจจะมองไม่เห็นข้อบกพร่องนั้น ๆ นอกจากนี้ยังได้รับการพัฒนาและแก้ไขจุดบกพร่องนั้น เป็นการเฉพาะจุดจริงๆ
นอกจากนี้แล้วทางทีมที่ปรึกษายังได้มีการวางแผนงานระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองต่อไป ที่สำคัญการให้คำปรึกษาแนะนำทั้งหมดไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นส่วนที่จะต้องลงทุนปรับปรุงสถานประกอบการ ซึ่งทางสถานประกอบการต้องเป็นผู้ลงทุนเอง ซึ่งผลที่ได้รับในระยะยาวนั้นคุ้มเกินคุ้มทีเดียว
ทั้งนี้ หากสถานประกอบการใดมีความสนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทร. 02 202 3173 หรือดูรายละเอียดโครงการที่www.opoai.com
ภาพ-แฟ้มภาพกิจกรรมโครงการฯ