นักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวรโชว์
“เครื่องล้างแคดเมียมจากดิน”
ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก โชว์ผลงานพัฒนาต้นแบบเครื่องล้างแคดเมียมในดินโดยใช้ผงเหล็กประจุศูนย์ เป็นสารปรับปรุงดิน ในงาน โครงการ “ Research for Community วิจัยเพื่อชุมชนสังคม” ที่มีมหาวิทยาลัย 20 แห่งจาก 4 ภูมิภาคเข้าร่วมโครงการและลงนามบันทึกความร่วมมือกับ วช. ทดสอบกับดินปนเปื้อนแคดเมียมจริงในพื้นที่อ.แม่สอด จ.ตาก มีประสิทธิภาพดึงแคดเมียมออกจากดินสูงถึง 97%
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)จัดงาน โครงการ “ Research for Community วิจัยเพื่อชุมชนสังคม” เมื่อเร็ว ๆนี้ โดยมีพิธีร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือของมหาวิทยาลัย 20 แห่งจาก 4 ภูมิภาคและวช. เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการ นำความรู้และผลสำเร็จของงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ชุมชนสังคม โดยมีพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ในโอกาสนี้มหาวิทยาลัยพันธมิตรได้นำผลงานศึกษาวิจัยเพื่อชุมชนสังคมมานำเสนอ ในจำนวนนี้รวมถึงทีมงานของมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลกด้วยเช่นกัน
โดยทีมนักวิจัยของ ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ แห่งหน่วยวิจัยเชิงบูรณาการด้านการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและการนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้โชว์ผลงาน พัฒนาต้นแบบ “เครื่องล้างแคดเมียมออกจากดินด้วยผงเหล็กและแม่เหล็ก” ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการดึงแคดเมียมออกจากดินถึง 97%
งานวิจัยดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนอย่างแท้จริง เนื่องจากในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว อ. แม่สอด จ.ตาก ได้รับผลกระทบจากปัญหาแคดเมียมซึ่งเป็นโลหะหนักจากการทำเหมืองแร่ปนเปื้อนในน้ำและดิน ทำให้มีการถ่ายเทแคดเมียมสู่ต้นพืชและสิ่งมีชีวิตในห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งทำเกิดปัญหาด้านสุขภาพ ประชาชนเจ็บป่วยจำนวนมากในช่วงปี 2547 ทั้งโรคมะเร็ง นิ่ว โรคกระดูก และโรคเกี่ยวกับตับ-ไต
สำหรับเครื่องล้างแคดเมียมฯทำงานโดยใช้ผงเหล็กประจุศูนย์ เป็นสารปรับปรุงดินเพื่อดักจับแคดเมียมออกจากดิน กระบวนการทำงานเริ่มจากนำผงเหล็กประจุศูนย์ใส่ผสมไปในดินตัวอย่าง จากนั้นเครื่องจะดูดตัวอย่างเข้าไปและปล่อยเพียงน้ำไหลออกมา เหลือแคดเมียมที่ถูกผงเหล็กตรึงไว้ เพื่อนำไปกำจัดต่อไป โดยเวลานี้ เครื่องต้นแบบมีประสิทธิภาพในการตรึงแคดเมียมได้สูงถึง 97%
ในอนาคตยังจำเป็นต้องพัฒนาต่อไปเพื่อขยายขนาดอุปกรณ์และศักยภาพในการตรึงแคดเมียมเพิ่มขึ้น สำหรับใช้กำจัดแคดเมียมในดินให้ได้ปริมาณเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะต้องขยายขนาดอุปกรณ์ให้ใหญ่ขึ้นอีกประมาณ 100 เท่าตัว ซึ่งคงต้องใช้เวลาพัฒนาอีกหลายปี แต่ก็เป็นความหวังว่าจะสามารถลดการปนเปื้อนแคดเมียมในพื้นที่ชุมชนได้
ทั้งนี้ ดร.ธนพล เป็นนักวิจัยอีกท่านหนึ่งที่สร้างชื่อให้กับประเทศไทย โดยเป็นนักวิจัยคนไทยคนแรก ที่เคยคว้ารางวัลระดับโลกด้านสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้รับรางวัลชนะเลิศ (Grand Prize Winner) ในงานการประกวด the Prosper.Net-ScopusYoung Scientist Award in Sustainable De-velopment สาขา Sustainable Infrastruc-ture ณ มหาวิทยาลัยสหประชาชาติ ประจำปี 2012 ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11-13 กรกฎาคม 2555 จากการนำเสนอภาพรวมของโครงวิจัยการฟื้นฟูดินและน้ำาใต้ดินปนเปื้อน (Ground-water and soil remediation) ที่ทำร่วมกับศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อแก้ปัญหาการปนเปื้อนสารอันตรายในดินและน้ำใต้ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ยังได้รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น ประจำปี 2556 จาก วช. ด้วยจาก วิทยานิพนธ์ เรื่อง “อิทธิพลของการปรับปรุงพื้นผิวของอนุภาคนาโนของเหล็กประจุศูนย์ด้วยโพลีเมอร์ที่มีต่อการเกาะตัวกัน ต่อความสามารถในการเคลื่อนที่ในตัวกลางพรุน และต่อการทำปฏิกิริยาสลายสารไตรคลอโรเอทธิลีนเพื่อการฟื้นฟูดินและน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนสารอันตราย” (Effect of Polymeric Surface Modification on Nano-sized Zerovalent Iron (NZVI) Aggregation, Transport of Concentrated NZVI Dispersions in Porous Media, and Reactivity with Trichloroethylene)
อนึ่งสำหรับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,มหาวิทยาลัยขอนแก่น,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี,มหาวิทยาลัยแม่โจ้,มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่,มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา,มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,มหาวิทยาลัยมหิดล,มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,มหาวิทยาลัยทักษิณ,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย,มหาวิทยาลัยบูรพาและมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช