มหิดลลงนาม15มหาวิทยาลัย
ร่วมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน
มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน (Sustainable University Network of Thailand : Sun Thailand) โดยมี ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยอธิการบดีอีก 15 สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสถาบันอุดมศึกษาไทย ณ บริเวณอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายขยายกรอบความคิดเรื่อง มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศน์ (Eco University) และได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโดยมีมหาวิทยาลัยต่างๆเข้าร่วมการประชุม เมื่อเดือนสิงหาคม และเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้มีความเห็นตรงกันว่าควรสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาต่างๆสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยยั่งยืน (Sustainable University)” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างสรรค์กรอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้บริบทของสถาบันการศึกษาไทย สร้างภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนภายในประเทศ และขยายผลสู่ระบบการศึกษาไทยในทุกระดับ และสร้างความเป็นเอกภาพของมหาวิทยาลัยไทย เพื่อเชื่อมโยงกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยมีสถาบันอุดมศึกษา รวม 16 แห่งมาร่วมลงนาม
ทั้งนี้ในบันทึกข้อตกลงได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า สถาบันการศึกษาทุกแห่งจะร่วมกันเป็นเครือข่ายทั้งในระดับสถาบัน คณะวิชา หน่วยงานเทียบเท่าทุกแห่ง รวมทั้งนิสิตนักศึกษาของทุกสถาบัน เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการพัฒนา มีความร่วมมือในการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร มีการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ขยายเครือข่าย รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆที่ส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆในครั้งนี้จะเป็นพลังขับเคลื่อน และยกระดับภาคการศึกษาของประเทศ ให้เป็นต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนแก่ภาคส่วนอื่นๆของสังคม และประเทศต่อไปด้วย
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การปรับกระบวนทัศน์ความคิดในการบริหารจัดการองค์กรสถาบันอุดมศึกษาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 มีเป้าหมายหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่มุ่งสร้างให้เกิดดุลยภาพขององค์ประกอบพื้นฐานในมิติสำคัญ 3 มิติ ได้แก่ มิติเชิงเศรษฐกิจ (Economic) มิติเชิงสิ่งแวดล้อม (Ecology) และมิติเชิงสังคม (Social) โดยคาดหวังผลลัพธ์ของการก่อให้เกิดความเท่าเทียม (Equity) ความมีประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร (Efficient) และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Quality of Life)
การพัฒนาอย่างยั่งยืนในยุคปัจจุบัน ไม่ได้มองเพียงแค่การสร้างให้เกิดดุลยภาพขององค์ประกอบหลัก 3 มิติในลักษณะที่เป็นเพียงนามธรรม แต่ควรมุ่งเน้น 17 เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากที่ประชุมร่วมสหประชาชาติมาร่วมพิจารณา ซึ่งประเด็นสำคัญคือ สถาบันอุดมศึกษาสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม มีการยกตัวอย่างประเด็นที่สถาบันอุดมศึกษาสามารถหยิบยกมาเป็นประเด็นเพื่อขับเคลื่อนสังคมระดับประเทศเชื่อมโยงสู่สังคมระดับโลกที่น่าสนใจ ได้แก่ ประเด็นเรื่องการยกระดับการศึกษาที่มีคุณภาพและการศึกษาตลอดชีวิต ประเด็นความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ และประเด็นเรื่องของสุขภาพ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม พันธกิจหลักของสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ประกอบด้วย มิติของการศึกษา การวิจัย และบริการวิชาการ การสร้างมหาวิทยาลัยให้ยั่งยืน ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของทางกายภาพ หรือการสร้างให้เกิดเป็นเพียงแค่มหาวิทยาลัยสีเขียวที่มุ่งเน้นตอบโจทย์ในมิติเชิงสิ่งแวดล้อมเพียงเท่านั้น หากแต่การสร้างให้เกิดการปรับกระบวนทัศน์การเรียนการสอนที่สอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 เช่น มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะขึ้นจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การปรับฐานคิดของโจทย์วิจัยที่มุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการ เทคโนโลยี หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การให้ความสำคัญกับการนำผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ได้จริงกับชุมชนสังคม การเปลี่ยนแปลงแนวคิดของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การผลักดันให้เกิดความตระหนักต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ และการหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการบูรณาการข้ามศาสตร์ เป็นต้น
อนึ่งสำหรับ 15 สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศที่ร่วมลงนามประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช