SME Bankช่วยSMEsต่อเนื่อง
11เดือนกำไรทะลุ 1,200 ล้านบ.
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)ยังเดินหน้าช่วยผู้ประกอบการรายย่อยต่อเนื่อง ร่วมพันธมิตรชวน SMEs โอนใช้สินเชื่อ Policy Loan ที่มีดอกเบี้ยต่ำ 4% แทน Soft Loan ชี้ 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) 2558 มี กำไรสุทธิ 1,248 ล้านบาท ทะลุเป้าที่ตั้งไว้ที่ 1,200 ล้านบาท เหตุปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพดีได้มากขึ้น เล็งร่วมมือ ธอส. และห้างเอกชนจัดหาที่จำหน่ายสินค้าให้ SMEs ฟรี ร่วมมือเอ็กซิมแบงก์ดันไปขายเพื่อนบ้าน
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และนายวรมิตร ครุฑโต รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. -พ.ย. 2558) เอสเอ็มอีแบงก์ ได้ปล่อยสินเชื่อ Soft Loan แก่ลูกหนี้จำนวน 1,386 ราย เป็นยอดสินเชื่อรวม 4,281.20 ล้านบาท เฉลี่ยต่อราย 3.08 ล้านบาท ซึ่งเห็นได้ว่า การปล่อยกู้ Soft Loan ของ เอสเอ็มอีแบงก์ เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ดี ธนาคารยังมีสินเชื่อที่อนุมัติแล้วแต่ยังค้างท่อไม่สามารถเบิกจากธนาคารออมสินได้ทันอีก 1,276 ราย ยอดรวม 4,300.99 ล้านบาท ซึ่งธนาคารจะเชิญชวนโอนมาใช้สินเชื่อ Policy Loan ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ 4% ซึ่งมีวงเงินเหลือปล่อยได้อีก 13,000 ล้านบาทแทน นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ประสานความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆที่มีคำขอกู้สินเชื่อ Soft Loan ค้างอยู่ในท่อ และหน่วยงานพันธมิตร ทั้งจากสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ สสว. เป็นต้น ให้ส่งผู้ประกอบการที่พลาดหวังจากสินเชื่อ Soft Loan ให้มาใช้สินเชื่อ Policy Loan ของเอสเอ็มอีแบงก์แทนด้วยเช่นกัน ซึ่งเชื่อว่ายังมีความต้องการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของผู้ประกอบการ SMEs อยู่จำนวนมาก และคาดว่าเอสเอ็มอีแบงก์จะสามารถปล่อยกู้สินเชื่อ Policy Loan ได้ครบ 15,000 ล้านบาทโดยเร็ว
ทั้งนี้ ณ 30 พ.ย. 2558 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้าง 87,898 ล้านบาท โดยตั้งแต่เดือน มค. – 21 ธค. 2558 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อรายใหม่ได้ 12,777 ราย รวมเป็นจำนวนเงิน 30,028.34 ล้านบาท วงเงินเฉลี่ยรายละ 2.35 ล้านบาท
ในส่วนของกำไรนั้น ในเดือน พ.ย. 2558 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 128 ล้านบาท และกำไรสุทธิรวม 11 เดือน (ม.ค. -พ.ย.) 2558 เท่ากับ 1,248 ล้านบาท เกินเป้าหมายที่ธนาคารตั้งไว้ปี 2558 ที่ 1,200 ล้านบาทไปแล้ว เนื่องจากธนาคารปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพดีได้มากขึ้น ทำให้มีดอกเบี้ยรับเพิ่ม และไม่มีภาระที่ต้องกันสำรองเพิ่ม รวมถึงควบคุมดอกเบี้ยจ่ายและค่าใช้จ่ายดำเนินการให้อยู่ในระดับไม่สูงเกินไปได้
ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ สิ้น พ.ย.2558 NPLs คงเหลือ 26,154 ล้านบาท (คิดเป็น 29.75% ของสินเชื่อรวม) โดยในเดือน พ.ย. 2558 NPLs ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยประมาณ 158 ล้านบาท และเปรียบเทียบกับเดือน ธ.ค. 2557 ลดลงเท่ากับ 5,806 ล้านบาท สาเหตุ NPLs ลดลงเพราะธนาคารสามารถรักษาคุณภาพลูกหนี้ไม่ให้ตกชั้นเป็น NPLs ได้ดีขึ้น โดยส่งเจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพสินเชื่อ (Loan Monitoring) ไปประจำอยู่ตามสาขาในเขตภูมิภาค เพื่อติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน ก็สามารถปรับโครงสร้างของลูกหนี้ที่เป็น NPLs มาแต่เดิมได้มากขึ้นด้วย
สำหรับพันธกิจระยะต่อไปของธนาคาร นอกเหนือจากการให้กู้แก่ SMEs รายย่อยแล้ว ธนาคารจะมุ่งเน้นในเรื่องโครงการร่วมลงทุนตามนโยบายรัฐบาลซึ่งตั้งเป้าไว้ 2,000 ล้านบาท และการให้ความร่วมมือกับธนาคารรัฐด้วยกัน เช่น การร่วมมือกับธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อ Soft Loan ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
ในระยะต่อไป ธนาคารจะร่วมมือกับ ธอส. และห้างสรรพสินค้าภาคเอกชน เช่น ห้างมาบุญครอง จัดหาสถานที่จำหน่ายสินค้าให้แก่ SMEs โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า และธนาคารอยู่ระหว่างร่วมมือกับ เอ็กซิมแบงก์ ในการช่วยเหลือ SMEs ที่ทำการค้าขายชายแดน ที่จะนำสินค้าไปขายในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านด้วย
นอกจากนี้ธนาคารได้ดำเนินการ ร่วมกับ สมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา เพื่อพาคาราวาน SMEs นำสินค้าเข้าไปจำหน่ายและจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ในประเทศกัมพูชา เช่น ที่เมืองเสียมเรียบ ในเดือน ม.ค. ปี 2559 และจะขยายไปในเมืองใหญ่อื่นๆในประเทศกัมพูชาต่อไป