เปิดด่านควบคุมโรคเชียงคาน
รองรับเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายเสน่ห์ นนทะโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และนางสาวมัณฑนา บุณยากร นายด่านศุลกากรเชียงคาน ร่วมเปิดด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเชียงคาน จังหวัดเลย(25ธ.ค.) ซึ่งเป็นด่านชายแดนระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และอำเภอเชียงคานถือเป็นเมืองหน้าด่านที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเลยและของประเทศไทย
นายแพทย์อำนวย กล่าวว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงการพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งภาคอีสานตอนบนจะมีลำน้ำโขงกั้นพรมแดน ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม โดยมีชาวต่างชาติเดินทางผ่านเข้าออกและเข้ามาอาศัยจำนวนมาก อย่างไรก็ดีทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศในการควบคุมป้องกันโรคและปัญหาด้านสุขภาพด้านอื่นๆ อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีนี้ที่เป็นปีแห่งประชาคมอาเซียน
ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พบว่าในปี 2558 มีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกในประเทศไทย ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ตั้งแต่ 1 มกราคม–31 กรกฎาคม 2558 โดยมีจำนวนใกล้เคียงกัน คือ ขาเข้าประมาณ 28.5 ล้านราย เป็นชาวต่างชาติ 22.6 ล้านราย คนไทย 5.9 ล้านราย ส่วนขาออกประมาณ 28.7 ล้านราย เป็นชาวต่างชาติ 22.8 ล้านราย คนไทย 5.9 ล้านราย
สำหรับชายแดนระหว่างประเทศ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ในปี 2558 มีผู้เดินทางผ่านด่านพรมแดน ประมาณ 36,000 ราย หรือเฉลี่ยเดือนละ 3,000 ราย โดยอำเภอเชียงคานเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และมีการค้าขายระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับต้นๆของประเทศ ซึ่งคาดว่าด่านพรมแดนนี้จะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวผ่านเข้าออกเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงพิจารณาเปิดด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศขึ้น เป็นด่านลำดับที่ 68 ของประเทศ
นายแพทย์อำนวยกล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค มีการพัฒนาด่านฯ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในสิ้นปี 2558 นี้ โดยมีการพัฒนา 3 ด้านสำคัญ ดังนี้ 1.การพัฒนาสมรรถนะตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ทั้งการประสานงาน การสื่อสารข้อมูลข่าวสาร มาตรการต่างๆ ในภาวะปกติ และการแก้ไขเหตุการณ์ในภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ 2.พัฒนาบุคลากรด้านการสื่อสาร ภาษาอังกฤษ ภาษาลาว ภาษาจีน เป็นต้น 3.พัฒนาการเฝ้าระวังโรคและคัดกรองผู้เดินทาง
นอกจากนี้ ด่านควบคุมโรคฯ จะได้รับการพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ปฏิบัติการและระบบการสื่อสารในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อขจัดหรือป้องกันการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งภัยคุกคามทางสาธารณสุขระหว่างประเทศตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 (IHR 2005) ซึ่งหลังจากนี้ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเชียงคาน จะดำเนินการสุ่มตรวจเฝ้าระวังโรคในผู้เดินทางเข้าออก คัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากเขตเสี่ยงต่อโรคติดต่อตามแนวชายแดนที่เข้าข่ายเป็นโรคที่ต้องรายงานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขและตามประกาศ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองแห่งชาติ
นายแพทย์อำนวย กล่าวในตอนท้ายว่า ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความร่วมมือด้านสาธารณสุข ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 โดย กระทรวงสาธารณสุขไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ชายแดนอย่างต่อเนื่อง เป็นจังหวัดคู่ขนาน หรือเรียกว่า “twin city”
ล่าสุดในปี 2558 มีการบูรณาการงานป้องกันควบคุมโรคระหว่างเครือข่ายไทย-ลาว เช่น จังหวัดหนองคายกับนครหลวงเวียงจันทร์ มีการซ้อมแผนรับมือการระบาดโรคอีโบลา นอกจากนี้ยังจัดทำข้อตกลงความร่วมมือและแผนปฏิบัติการการรายงานโรค การเฝ้าระวังโรคและการส่งต่อผู้ป่วย การเฝ้าระวังโรคและควบคุมมาตรฐานอาหารและยา การแพทย์พื้นบ้าน การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง การควบคุมโรคติดต่อและโรคติดต่ออุบัติใหม่ โรคระบาดข้ามแดน และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับแรงงานต่างชาติ โดยเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและพัฒนาบุคลากรร่วมกัน สำหรับจังหวัดเลยมีจังหวัดคู่ขนานคือแขวงไชยบุรีและแขวงเวียงจันทร์ ซึ่งผลความร่วมมือทำให้ประชากรทั้งสองฝั่งโขง ได้รับการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคและโรคระบาดข้ามแดนดียิ่งขี้น
หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422