กลุ่มวิจัยมอ.พบสารราทะเล
ฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านม-MRSA
ในปัจจุบันนอกจากโรคติดเชื้้อก่อโรคที่ดื้อต่อยารักษาเป็นสาเหตุสำคัญคร่าชีวิตชาวโลกแล้ว กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคไขมันในเลือดสูงและความดันโลหิตสูง เป็นอีกสาเหตุสำคัญ โดยเฉพาะ “โรคมะเร็ง” ถือเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของไทย ซึ่งรักษาโดยวิธีผ่าตัด รังสีรักษาและยาเคมีบำบัด แต่ยาเคมีที่มีประสิทธิภาพสูงและจำเพาะต่อโรคยังแพงและต้องนำเข้า อย่างไรก็ดีในอนาคตนักวิจัยไทยอาจสามารถพัฒนาสารจาก “รา” เป็นยารักษาและทดแทนการนำเข้าได้ หลังพบแล้วว่า สารจากราทะเลมีฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านมและเชื้อดื้อยา
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล แห่งภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) หัวหน้ากลุ่มวิจัยที่มีสมาชิกจากสหสาขาวิชาและหลายมหาวิทยาลัยอีก 15 คนกำลังเป็นความหวังเพื่อช่วยแก้ปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของไทยได้ เมื่อเป็นผู้คว้าทุนวิจัยศาสตราจารย์ที่เป็นผู้นำกลุ่ม (์NSTDA Chair Professor) ประจำปี 2558 รับทุน 20 ล้านบาทในระยะเวลา 5 ปีจากมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อต่อยอดการศึกษาเดิมในโครงการ “การค้นหาและพัฒนาสารต้นแบบจากทรัพยากรราของไทยเพื่อความยั่งยืนในการค้นหายา”
ศาสตราจารย์ ดร. วัชรินทร์เปิดเผยว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศชาติและโลก โดยมะเร็งตับและท่อน้ำดีคร่าชีวิตคนไทยอันดับ 1 ตามด้วยมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งลำไส้และทวารหนัก ส่วนโรคไขมันในเลือดสูงและความดันโลหิตสูงเป็นโรคในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ในไทย ไขมันและความดันสูงทำให้เสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดแข็ง ยาลดไขมันกลุ่มสเตตินมีประสิทธิภาพสูงช่วยลดไขมันชนิดไม่ดี(LDL)ได้ดี แต่ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงทำให้กล้ามเนื้ออักเสบและเป็นพิษต่อตับ ส่วนยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ใช้ยาขับปัสสาวะร่วมกับยาขยายหลอดเลือด แต่มีผลทำให้หัวใจบีบตัวไม่ได้ดี
นอกเหนือจากนี้ เชื้อแบคทีเรียดื้อยากำลังสร้างปัญหาสาธารณสุขให้แก่โลกเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มเชื้อก่อโรคทั่วไป เช่น โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ปอดบวมและการติดเชื้อในกระแสเลือดและกลุ่มโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลจากเชื้อสแตฟิโลคอคคัส ออเรียส ที่ดื้อยาเมธิซิลลิน หรือเรียกว่า เชื้อ MRSA และเชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่ดื้อยาหลายชนิด โดยพบว่า มีอัตราการเสียชีวิตสูงมากขึ้น เนื่องจากเชื้อเพิ่มการดื้อยาปฏิชีวนะหลากหลายชนิดและมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ดื้อยาเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้ยาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่ “รา” อาจจะเป็นแหล่งยาเพื่อรักษาโรคร้ายเหล่านี้ได้ นับจากที่มีการค้นพบยาเพนิซิลลิน
ทั้งนี้องค์ความรู้ของกลุ่มวิจัยที่ได้สะสมมาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากการศึกษาราต่าง ๆ ได้แก่ ราเอนโดไฟท์ ราดินและราทะเล โดยเน้นศึกษาฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์อย่างแบคทีเรีย MRSA พบว่า เมทาบอไลท์จากราทะเล แสดงฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย MRSA ได้ในระดับใกล้เคียงกับยาปฏิชีวนะที่ใช้ต้านการติดเชื้อ
นอกจากนี้ทีมวิจัยยังค้นพบสารจากราทะเลมีความเป็นพิษต่อเซลล์อย่างเฉพาะเจาะจงกับ “มะเร็งเต้านม” แต่ไม่มีผลต่อเซลล์ปกติ (Vero cells) หรือมีผลในระดับต่ำ ราบางสายพันธุ์เป็นแหล่งผลิตยาที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงยาลดไขมันในเลือดด้วย ในขณะที่ราบางสายพันธุ์ผลิตเมทาบอไลท์หลักที่แสดงฤทธิ์ต้านทั้งแบคทีเรียและมะเร็ง เวลานี้กลุ่มวิจัยได้ทำการสังเคราะห์อนุพันธ์ของสารทั้ง 2 ชนิดเพื่อเพิ่มฤทธิ์ทางชีวภาพและลดความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติ
ในขั้นต่อไปกลุ่มวิจัยจะเดินหน้าต่อยอดงานวิจัยเดิมเพื่อพัฒนาสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติต้นแบบให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมยา พร้อมค้นหาสารใหม่ ๆ จากราแหล่งใหม่ ๆ ควบคู่กันไป รวมถึงค้นหาราที่มีสารต้านราก่อโรคในพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวและยางพาราด้วย
ศาสตราจารย์ ดร. วัชรินทร์กล่าวว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับแน่นอนได้แก่ ได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ ได้สร้างสารต้นแบบที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นยาที่มีฤทธิ์เฉพาะเจาะจง เช่น ต้านแบคทีเรีย มะเร็งและลดไขมันในเลือด เป็นต้น รวมถึงได้พัฒนากระบวนการผลิตยาลดไขมันที่ผลิตเป็นปริมาณมาก การค้นพบเชื้อราสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ผลิตยา อีกทั้งได้พัฒนาศักยภาพและความสามารถของทรัพยากรบุคคลทางด้านสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
ท้ายที่สุดแล้วโครงการนี้จะช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ช่วยให้คนไทยมีสุขภาพอนามัยที่ดีและการกินดีอยู่ดี และจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนในการค้นหายาและสารชีวภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
นับเป็นโชคดีของประเทศไทยที่มีบุคลากรวิจัยที่มีความสามารถและมีความมุ่งมั่นตั้งใจสูงที่จะทำงานและทำสิ่งดี ๆ ให้กับชาวไทยและชาวโลก .อีกไม่นานเราอาจจะได้เห็นยาต้านมะเร็งขนานใหม่ ที่เป็นผลงานของคนไทย…