กรมทางหลวงร่วมวสท.ยกระดับ
ทางหลวงเพชรเกษมรับปีใหม่
ไทยทำสถิติเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก มีผู้สูญเสียชีวิตและบาดเจ็บราว 26,000 คนต่อปี มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม 160,000 ล้านบาท กรมทางหลวง และ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการนำร่องยกระดับความปลอดภัยของถนนทางหลวงเพชรเกษม (แยกวังมะนาว-หัวหิน-อุทยานราชภักดิ์) ต้อนรับปีใหม่ ตั้งเป้าลดอุบัติเหตุ 20% เตรียมพร้อมฮับคมนาคม-โลจิสติกส์อาเซียน
นายสราวุธ ทรงศิวิไล (Mr.Sarawut Songsivilai) รองอธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า “การลงนามความร่วมมือระหว่างกรมทางหลวง กับ วสท.ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือ ในระยะ 3 ปี (2559-2561) มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาส่งเสริม ศึกษาวิจัยด้านวิศวกรรมงานทาง ให้เจริญก้าวหน้า สอดคล้องกับนโยบายเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนของกระทรวงคมนาคม เนื่องด้วยตลอดระยะเวลา 103 ปีของการดำเนินงานของกรมทางหลวงเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ดูแลโครงข่ายทางหลวงแผ่นดินทั่วประเทศ รวมระยะทางในความรับผิดชอบกว่า 60,000 กิโลเมตร และมีเป้าหมายจะพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่งเพื่อรองรับความเจริญก้าวหน้าของระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ รวมถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนและการขนส่ง จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกับ วสท. ซึ่งเป็นองค์กรเสาหลักด้านวิชาชีพวิศวกรรมของประเทศไทย และเป็นแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมที่จะเข้ามาร่วมมือกันในการวิเคราะห์สภาพปัญหา รวมถึงการออกแบบและกำหนดมาตรการความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานวิศวกรรมการทางเดียวกันทั่วประเทศในอนาคต
การดำเนินโครงการนำร่องยกระดับความปลอดภัยทางหลวงหมายเลข 4 หรือถนนเพชรเกษม เนื่องจากเป็นทางหลวงสายหลักที่ใช้ในการเดินทางสู่ภาคใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ประชาชนใช้สัญจรเป็นจำนวนมากทำให้มีปริมาณการจราจรหนาแน่นและเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ และวันหยุดยาวในครั้งนี้นับเป็นการผนึกกำลังของสององค์กรในการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนาระบบการคมนาคมให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับนานาประเทศ สำหรับโครงการนำร่องยังได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากกองบังคับการตำรวจทางหลวงในการเข้ามาเป็นผู้ดูแลด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้โครงการนี้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ”
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof.Dr.Suchatvee Suwansawat) นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ขณะที่ประเทศไทยจะก้าวเป็นฮับคมนาคมและโลจิสติกส์นั้นจำเป็นต้องพัฒนาประสิทธิภาพของการขนส่งที่รวดเร็ว ต้องมีถนนที่ปลอดภัย มีคุณภาพ โดยปรับมาตรฐานวิศวกรรมการทางและพัฒนายกระดับความปลอดภัยทางถนนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่นานาประเทศยอมรับ เพื่อลดอุบัติเหตุ ความเสียหายต่อเศรษฐกิจและชีวิตทรัพย์สิน
สำหรับหลักการตรวจประเมินหาความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Assessment Model) เพื่อใช้เป็นต้นแบบมาตรฐานการปรับปรุงพัฒนาถนนทั่วประเทศในอนาคต พิจารณาจาก 3 ประเด็น คือ 1.) ภาพรวมของการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด ได้แก่ ตำแหน่ง, ช่วงเวลา, ประเภทพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุ และประเภทของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น 2.) ตำแหน่งที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง โดยทำการวิเคราะห์จาก สถิติที่เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงข้อมูลจากเจ้าหน้าที่และคนในพื้นที่ 3.) การตรวจสอบความปลอดภัยบนถนน หรือ (Road Safety Audit) พิจารณาจาก สภาพถนน, สภาพอุปกรณ์, ผู้ใช้ถนน และประเภทของยานพาหนะ ทั้งนี้คณะทำงาน วสท. และกรมทางหลวงได้นำข้อมูลทั้ง 3 ส่วน มาสังเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดเพื่อกำหนดมาตรการที่ถูกต้องเหมาะสม และจัดทำเป็นแผนแม่บทต่อไป