ก.วิทย์โชว์นวัตกรรมรถไฟฟ้า
ชิ้นส่วนผลิต-พัฒนาในไทย90%
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสถาบันวิจัย และภาคเอกชนที่พัฒนาและประกอบยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นเองในประเทศไทยจัดแสดงนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในไทย ณ ลานหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเร็วๆนี้ ยานยนต์ขนาดกลางและขนาดเล็กที่นำมาแสดงใช้ชิ้นส่วนในการผลิตจากในประเทศไม่น้อยกว่า ๘๐-๙๐% (ไม่นับรวมแบตเตอรี)
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ เยี่ยมชมงานแสดงศักยภาพนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตและพัฒนาขึ้นในประเทศไทย ณ ลานหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีทั้งรถโดยสารไฟฟ้าขนาดใหญ่ รถโดยสารไฟฟ้าขนาดกลาง ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่สามารถจดทะเบียนได้ตามกฎหมาย รวม 9 คัน โดยยานยนต์ขนาดกลางและขนาดเล็กที่นำมาแสดงเหล่านี้ใช้ชิ้นส่วนในการผลิตจากในประเทศไม่น้อยกว่า 80-90% (ไม่รวมแบตเตอรี)
พลเอก ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยมีอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่อยู่แล้ว จึงควรเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบตเตอรีที่เป็นแหล่งสะสมพลังงานและมีมูลค่าการนำเข้าสูงให้สามารถผลิตขึ้นเองในประเทศไทยได้ และเชิญชวนให้คนไทยใส่ใจการช่วยลดมลภาวะ รักษาสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน โดยใช้ยานพาหนะไฟฟ้าให้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืนในอนาคต
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า รัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะส่งเสริมการผลิตในประเทศ สร้างผู้ประกอบการที่เชื่อมโยงให้ได้เพื่อจะสร้างอาชีพสร้างรายได้ และไทยจะต้องเป็นประเทศผู้ผลิตรถไฟฟ้าได้โดยเร็วในอนาคต และพร้อมสนับสนุนทุกบริษัทที่ทำมา แต่จะต้องได้ใบอนุญาตและมาตรฐานของประเทศไทยด้วย
ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่า ปัจจุบันการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ายังค่อนข้างจำกัด ราว 2,000 คันเท่านั้น และราว 80% เป็นจักรยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนรถโดยสารไฟฟ้ายังใช้กันน้อยมากตามมหาวิทยาลัยบางแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า แม้ว่าจะจดทะเบียนได้ แต่มีการใช้ที่จำกัดเพียงในแหล่งท่องเที่ยว เช่น โรงแรม รีสอร์ท เนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูงกว่ายานยนต์ทั่วไป แต่ในระยะยาวพบว่า มีความคุ้มทุนมากกว่าในด้านของการซ่อมบำรุง และการประหยัดเชื้อเพลิงที่ดีกว่ามาก ซึ่งจากการที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้านั้น ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการเอกชนค่อนข้างดี โดยผู้ประกอบการที่มาร่วมแสดงในงานส่วนใหญ่มีการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งจำเป็นต้องได้มาตรฐานสากลแล้วทั้งสิ้น จึงต้องมีการบูรณาการร่วมกันหลายภาคส่วน เพื่อส่งเสริมผลักดันอย่างจริงจังและทำให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว อันเป็นการต้อนรับการเป็นประชาคมอาเซียนด้วย
ฝ่ายดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการผลิตจำนวนหนึ่งแล้ว แต่อาจมีชิ้นส่วนบางชิ้น เช่น แบตเตอรี โดยเฉพาะลิเทียม และระบบขับเคลื่อน ที่ต้องนำเข้า โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างจัดให้มี consortium เพื่อร่วมกันวิจัยระหว่างสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งภาคเอกชน และเร่งเดินหน้าสร้างความพร้อมให้ไทยมีความสามารถในการผลิตแหล่งสะสมพลังงานสำหรับยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าให้ได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนำร่อง ภาครัฐควรเริ่มต้นใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากับตลาดภาครัฐ คือ ส่งเสริมการใช้รถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทั้งวงการในอนาคต ในส่วนนี้ กระทรวงคมนาคม และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. อยู่ระหว่างการดำเนินการผลักดันอยู่แล้ว