กรมควบคุมโรคลุยกำจัดมาลาเรีย
เล็งWHOรับรองปลอดโรค2569
สถานการณ์โรคไข้มาลาเรียทั่วโลกตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 37 ขณะที่ภาพรวมประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการควบคุมโรคไข้มาลาเรียพบอัตราป่วยเพียง 0.37 ต่อประชากรพันราย ยุทธศาสตร์กำจัดโรคมาลาเรียระยะ 10 ปี 2560-2569 ตั้งเป้าปลอดโรคมาลาเรียทั้งประเทศภายในปี 2567 และได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกภายในปี 2569
นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ของผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 37 และในปี 2558 องค์การอนามัยโลก(WHO)รายงานจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกประมาณ 214 ล้านราย ซึ่งร้อยละ 89 อยู่ในประเทศแถบแอฟริกาและมีผู้ป่วยเสียชีวิตทั่วโลก 438,000 คน สำหรับประเทศไทยนั้นจำนวนผู้ป่วยลดลงร้อยละ 85 จาก 150,000 รายในปี 2543 เหลือเพียง 24,000 ราย ในปี 2558 (ในระยะเวลา 15 ปี) โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่พบตามแนวบริเวณชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีการอพยพข้ามพรมแดนและมีการประกอบอาชีพที่ต้องพักค้างคืนในป่า สวนไร่ ซึ่งการควบคุมการระบาดของโรคต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหลายภาคส่วน
นอกจากนี้ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มแม่น้ำโขงยังพบปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อต่อยารักษาหลายขนาน ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยมีพื้นที่ดื้อยาอนุพันธ์อาร์ติมิซินิน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ตราด ตาก กาญจนบุรี และระนอง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและมีการปรับยารักษาให้เหมาะสมแล้ว
สถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย ปีงบประมาณ 2559 (ตั้งแต่ 1 ต.ค.58 – 7 ม.ค.59) พบผู้ป่วยทั้งหมด 2,675 ราย ลดลงร้อยละ 54 เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยพบผู้ป่วยสูงสุดในจังหวัดอุบลราชธานี รองลงมาคือ ศรีสะเกษและตาก สาเหตุของการติดเชื้อในจ.อุบลราชธานีและศรีสะเกษ เกิดจากประชาชนเข้าไปในป่าลึกเพื่อหาของป่ามารับประทานและขาย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทหาร ป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า โดยภาพรวมประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการควบคุมโรคไข้มาลาเรียเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันพบอัตราป่วยเพียง 0.37 ต่อประชากรพันราย ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้กระตุ้นให้ประเทศที่มีอัตราป่วยน้อยกว่า 1 ต่อประชากรพันราย ยกระดับนโยบายด้านมาลาเรียจากการควบคุมโรคเป็นการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนนโยบายดังกล่าวระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก นอกจากนี้ประเทศไทยร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิกได้แสดงจุดยืนให้การสนับสนุนเป้าหมายการกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไปจากภูมิภาคนี้ในที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งที่ 9 ณ กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์
การดำเนินงานกำจัดโรคไข้มาลาเรียมีการขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งโดยมีคำสั่งซึ่งลงนาม โดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ณ วันที่ 26 มีนาคม 2558 แต่งตั้งจากคณะกรรมการอำนวยการกำจัดมาลาเรียแห่งชาติ มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการบริหารกำจัดมาลาเรียแห่งชาติซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน
กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนายุทธศาสตร์กำจัดโรคไข้มาลาเรียขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมจัดทำ ยุทธศาสตร์กำจัดโรคมาลาเรียที่มีระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2560-2569 โดยกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยปลอดจากโรคไข้มาลาเรียทั้งประเทศภายในปี 2567 และได้รับการรับรองเป็นเขตปลอดโรคไข้มาลาเรียจากองค์การอนามัยโลก ภายในปี 2569