สนช.เล็งเปิดผลอนุมัติก.พ.59
“โครงการคูปองนวัตกรรมระยะ2”
สนช. เผยความคืบหน้าเร่งพิจารณาข้อเสนอโครงการของผู้ประกอบการในโครงการคูปองนวัตกรรมระยะ 2 ใกล้แล้วเสร็จ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่มุ่งให้เกิดกลไกในการขับเคลื่อนนวัตกรรม และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ SMEs มีประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่จะนำนวัตกรรมมาเพิ่มขีดความสามารถในธุรกิจ การตอบสนองต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค มีตลาดและสามารถแข่งขันได้ คาดประกาศผลการอนุมัติโครงการได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. กล่าวถึง โครงการคูปองนวัตกรรม ระยะที่ 2 ว่า “ในขณะนี้ สนช. โดยหน่วยพัฒนานวัตกรรม (iDC) ร่วมกับคณะทำงานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เร่งพิจารณารายละเอียดในข้อเสนอโครงการคูปองนวัตกรรมฯ ทุกโครงการ เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วน และเตรียมนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองโครงการคูปองนวัตกรรมฯ เพื่อทำการพิจารณาอนุมัติโครงการรอบแรก โดยในการพิจารณารายละเอียดในข้อเสนอโครงการคูปองนวัตกรรมฯ ทาง สนช. ได้แบ่งการพิจารณาออกเป็น 5 กลุ่มอุตสาหกรรมด้วยกัน ประกอบด้วย 1. กลุ่มเกษตร และเกษตรอุตสาหกรรม 2. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 3. กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (ไม่รวมอาหาร) 4. กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต และ 5. กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ (ท่องเที่ยว สื่อสารโทรคมนาคม โลจิสติกส์) ซึ่งความคืบหน้าขณะนี้ใกล้แล้วเสร็จและคาดจะทำการประกาศผลการอนุมัติโครงการได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 นี้
“ภาพรวมของผู้ประกอบการที่จัดทำข้อเสนอโครงการเข้ามาใน โครงการคูปองนวัตกรรม ระยะที่ 2 รอบแรกนี้ มีกลุ่มธุรกิจที่มีการนำนวัตกรรมที่น่าสนใจ และมีความหลากหลายยื่นข้อเสนอเข้ามามากขึ้น ซึ่งในแต่ละกลุ่มก็จะมีเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติโครงการที่แตกต่างกันไป อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ (ท่องเที่ยว สื่อสาร โทรคมนาคม โลจิสติกส์) ก็จะมีความแตกต่างเยอะพอสมควรกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากบางโครงการที่นำเสนอยังเป็นการนำเสนอในส่วนของรูปแบบคอนเซ็ปต์ไอเดีย ซึ่ง สนช. จะคำนึงถึงความเป็นนวัตกรรมและความเป็นไปได้ในการนำไปใช้จริง คอนเซ็ปต์ที่นำเสนอ และระดับธุรกิจที่ทางผู้ประกอบการดำเนินอยู่ มีความใหม่มากน้อยแค่ไหน เพราะเป้าหมายที่สำคัญของในโครงการคูปองนวัตกรรมนี้คือ ต้องการให้เกิดกลไกในการขับเคลื่อนนวัตกรรม และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ SMEs มีประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่จะนำนวัตกรรมมาเพิ่มขีดความสามารถในธุรกิจ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในการลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้”
ดร. สุภาพ อัจฉริยศรีพงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับโครงการคูปองนวัตกรรม ระยะที่ 2 รอบแรก มีผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจและจัดทำข้อเสนอโครงการเข้ามาเป็นจำนวนมาก อย่างในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และกลุ่มเกษตร และเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม ผู้ประกอบการก็พยายายามที่จะนำเอาตัวของนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวเนื่องกับการทำในธุรกิจ ทั้งในส่วนของขั้นตอนการผลิต หรือการทำตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา ต่อยอดธุรกิจของตัวเองด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น ทั้งเรื่องการลดต้นทุนการผลิตโดยการใช้นวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วม แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ประกอบการบางราย ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องของส่วนที่เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้น คือบางโครงการเป็นการใช้นวัตกรรมที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นการคิดนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ทำให้ทางกลุ่มของคณะอนุกรรมการไม่สามารถที่จะพิจารณาอนุมัติให้ได้
“จากการเข้าร่วมในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ ปัญหาของผู้ประกอบการที่พบคือ ในตัวโครงการยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของตัวนวัตกรรมที่เกิดขึ้น และประเด็นสำคัญที่ทาง สนช. ให้ความสำคัญก็คือ นอกจากมีการใช้นวัตกรรมแล้ว ต้องคำนึงถึงการตอบสนองต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และที่สำคัญต้องมีตลาดและสามารถแข่งขันได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการนอกจากจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์แล้ว ยังต้องเน้นด้านการตลาดและแผนธุรกิจ ไม่ใช้แค่มีการนำนวัตกรรมมาใช้แล้วถือว่าผ่าน เพราะถือเป็นกลไกที่สำคัญในการเปิดโครงการคูปองนวัตกรรม คือ มีนวัตกรรมใหม่ๆ ผลิตได้จริง แข่งขันในท้องตลาดได้ และดีกว่าเดิมที่มีอยู่นั่นเอง”