ต้นปี59ต่างด้าวลงทุนไทย31ราย
รวมมูลค่ากว่า 1,077 ล้านบาท
ต้นปี 2559 ต่างด้าวลงทุนทำธุรกิจในไทยเพิ่ม 31 ราย ส่วนใหญ่เป็นมาจากญี่ปุ่น เบลเยียม และสิงคโปร์ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 1,077 ล้านบาท จำนวน 1,731 ราย ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิทยาการแก่คนไทย เช่น เทคโนโลยีและวิทยาการเกี่ยวกับการบำรุงรักษาระบบกังหันก๊าซและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวมทั้งการบริหารจัดการโครงการก่อสร้างเตาเผาก๊าซเสีย
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 15 มกราคม 2559 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มอีกจำนวน 31 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น เบลเยียม และสิงคโปร์ ซึ่งจะมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจมากกว่า 1,077 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวของธุรกิจในประเทศ และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย จำนวน 1,731 ราย รวมถึงมีการถ่ายถอดเทคโนโลยีใหม่ๆ และองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิทยาการ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่ ผู้ประกอบไทยยังไม่มีความชำนาญ หรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น วิทยาการเฉพาะต้นแบบสำหรับการซ่อมแซมบำรุงรักษาสินค้าระดับ World Wide ของ “CARTIER” และ “CHANEL” อันเป็นสินค้าที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่ามีการผลิตในระดับมาตรฐานชั้นเลิศ เทคโนโลยีและวิทยาการเกี่ยวกับการบำรุงรักษาระบบกังหันก๊าซและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวมทั้งการบริหารจัดการโครงการก่อสร้างเตาเผาก๊าซเสีย รวมถึงการบริการจัดการศูนย์ออกกำลังกายที่มีการลงทุนสูงถึง 716 ล้านบาท และจ้างงาน 1,400 คน เพื่อให้บริการการออกกำลังกายด้วยสถานที่มาตรฐาน ด้วยบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และอุปกรณ์เครื่องออกกำลังกายที่มีเทคโนโลยีทันสมัยปลอดภัย
การประกอบธุรกิจในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูงในลักษณะข้ามพรมแดน การอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจบริการในประเทศไทยนั้น จะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีการขยายตัวทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค และสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในธุรกิจบริการของภูมิภาค ทั้งนี้การพิจารณาอนุญาตของคณะกรรมการฯ จะคำนึงถึงผลดีและผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก รวมทั้งมีการทบทวนแนวทางการพิจารณาอนุญาตให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนของประเทศไทยอย่างเป็นปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ อันเป็นการสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการค้าและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ