กรมพัฒนาธุรกิจฯรุกขจัดนอมินี
ลงพื้นที่ตรวจ10ธุรกิจ10 จังหวัด
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่ยอมให้มีธุรกิจนอมินีในไทย กำหนดมาตรการป้องปรามเข้มงวดทั้งก่อนและหลังเป็นนิติบุคคล ตลอดปี 2558 เดินเครื่องลงพื้นที่ตรวจสอบ 6 จังหวัดท่องเที่ยว ยังไม่พอปี 2559 รุกหนักเพิ่มอีก 4 จังหวัด และขยายธุรกิจให้ครอบคลุม หากพบผู้กระทำผิดจะต้องถูกตรวจสอบอย่างถี่ยิบและดำเนินการทางกฎหมายจนถึงที่สุด เตือนคนไทยอย่าเห็นแก่ตัว ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนหรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวมากกว่าผลประโยชน์ชาติ
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชน นำเสนอข่าวชาวต่างชาติได้เข้ามาทำธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งธุรกิจซื้อขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกระจายอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ของประเทศไทยและดำเนินธุรกิจในลักษณะปิดบังอำพรางให้คนไทยออกหน้าหรือถือหุ้นแทน หรือ “นอมินี” (Nominee) นั้น ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวตามกฎหมายไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใดและได้ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง
โดยมีมาตรการป้องปรามปัญหาดังกล่าวทั้ง ‘ก่อนและหลังการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล’ ซึ่งกำหนดให้การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลที่มีคนต่างด้าวร่วมลงทุนไม่ถึงร้อยละ 50 ต้องแสดงเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะ การเงินของผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นคนไทยที่ร่วมลงทุน เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการร่วมลงทุนจากคนไทยด้วย และภายหลังการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลแล้ว จะมีการจัดทำข้อมูลรายชื่อนิติบุคคลที่มีการจดทะเบียนในลักษณะธุรกิจที่ต้องสงสัยหรือน่าเชื่อว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับคนต่างด้าวไว้เพื่อกำหนดเป็นกลุ่มเสี่ยงและติดตามการดำเนินธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมามีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องทั้งธุรกิจนำเที่ยวและที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมทั้งธุรกิจให้เช่า ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และตัวแทนนายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
ตลอดปี 2558 ที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มีความร่วมมือและทำงานใกล้ชิดกับกรมการท่องเที่ยวและกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยร่วมกันแก้ไขปัญหานอมินีในธุรกิจท่องเที่ยวพร้อมเชื่อมโยงข้อมูลธุรกิจที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจากทั้ง 3 หน่วยงาน และผนึกกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกันในจังหวัดที่เป็นแหล่ง ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศเช่น กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ และภูเก็ต หากพบว่ามีธุรกิจที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำความผิดนอมินี กรมฯ จะส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนต่อไป และยังส่งให้กรมสรรพากรดำเนินการขยายผลในส่วนที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
สำหรับในปี 2559 มี 3 หน่วยงานยังคงร่วมกันตรวจสอบอย่างต่อเนื่องและให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ต้องตรวจสอบอีก 4 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจขายของที่ระลึก ขายปลีกทางอินเตอร์เน็ต ขายตรง และบริการที่สนับสนุนการศึกษา โดยลงพื้นที่ตรวจสอบเพิ่มเติมใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ เพชรบุรี (ชะอำ) ตราด และเชียงราย ล่าสุดกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตร ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกันไปแล้ว 2 จังหวัดได้แก่ ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) เบื้องต้นพบว่าธุรกิจมีพฤติกรรมน่าจะเข้าข่ายเป็นนอมินี 2 ราย อยู่ระหว่างตรวจสอบเชิงลึก และมีกำหนดลงพื้นที่ตรวจสอบในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายในช่วงปลายเดือนมกราคม 2559 นี้
ตลอดเวลาที่ผ่านมาพบว่าปัญหานอมินีส่วนหนึ่งเกิดจากคนไทยเองที่รู้เห็นเป็นใจคอยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนคนต่างชาติ จึงขอเตือนคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนหรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว ทั้งที่จงใจหรืออาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยหวังแค่ประโยชน์ตอบแทนส่วนตนซึ่งมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับประเทศชาติ เพียงเพื่อเอื้อให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยและหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย
ทั้งนี้ คนต่างด้าวที่ให้คนไทยถือหุ้นแทนและกรรมการบริษัทที่ตรวจสอบพบความผิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 – 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000 – 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอย้ำว่าจะส่งดำเนินคดีจนถึงที่สุดทุกราย