“บัณฑิตไทยในศตวรรษที่ 21”
แนะปั้น “เก่ง-ดี” สู่พัฒนายั่งยืน
โลกยุคปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัตน์ เป็น Globalization การติดต่อสื่อสาร ประสานงานไม่ได้อยู่เฉพาะในประเทศ มีขอบข่ายออกไปทั้งในภูมิภาคระดับอาเซียนและระดับโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อการผลิตบัณฑิตของประเทศไทยว่าควรจะออกมาในรูปแบบใด รวมถึงในปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมากทั้งในระดับประเทศ ระดับนานาชาติ คุณสมบัติบัณฑิตที่ผลิตออกมาต้องพร้อมที่จะแข่งขัน ไม่เฉพาะการแข่งขันทางเทคนิคแต่ต้องมีการสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ได้จัดการเสวนาในหัวข้อ คุณลักษณะบัณฑิตไทยในศตวรรษที่ 21 ในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2558 การประกันคุณภาพการศึกษา ภายใต้แนวคิด “ก้าวข้ามขีดจำกัด…สู่สหัสวรรษแห่งคุณภาพ” ซึ่งจากการประชุมดังกล่าว ได้มีการแสดงทรรศนะและมุมมองการพัฒนาจากนักการศึกษา และผู้ใช้บัณฑิต จำนวนมาก
นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวใน การเสวนาหัวข้อ คุณลักษณะบัณฑิตไทยในศตวรรษที่ 21 ในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2558 ว่า ระบบการสอนทั่วไปของประเทศไทยเป็นแบบ General ดังนั้นเพื่อรองรับตลาดในอนาคต การจัดการเรียนการสอนต้องให้ผู้เรียนได้เห็นในภาคปฏิบัติ เช่น การไปศึกษาดูงาน อย่างน้อยเทอมละ 1 ครั้ง รวมถึงมีการฝึกงาน ในการเรียนรู้ จำเป็นต้องไปศึกษาว่าในการปฏิบัติงานจริงมีอะไรบ้าง เราสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อสะท้อนกลับมายังตัวเองว่า เราชอบหรือไม่ ปัจจุบันหน่วยงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ มักเกิดปัญหาคือ เมื่อรับนักศึกษาจบใหม่มาทำงาน จะอยู่ได้ไม่นาน 3 เดือน 6 เดือน ไม่ถึงปี ก็ลาออก อาจเป็นเพราะไม่ชอบงาน งานไม่เหมาะกับตัวเองหรือว่ามีช่องทางให้เลือกมากมายว่าอะไรที่เหมาะกับตนเอง
ขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาต้องเข้าไปดูในแต่ละสาขาวิชาชีพด้วยว่า จำเป็นต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับอุตสาหกรรมเช่นกัน เพื่อให้บัณฑิตที่จบไปมีความรู้ความเข้าใจและตัดสินใจได้ง่ายขึ้น รวมถึงด้านจิตใจ นักศึกษาต้องได้รับการอบรมให้มีธรรมาภิบาล โดยต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในงาน คือต้องเป็นเป็นคนดี เรื่องนี้มีส่วนสำคัญ ไม่ว่าระบบงานที่ใดก็ตาม การทำงานที่มีธรรมาภิบาล หรือ“เป็นคนดีในงาน” ก็จะทำให้งานประสบความสำเร็จและเกิดการเจริญก้าวหน้า
ด้านนายพงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ รองประธานกรรมการบริหารสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรม เสนอมุมมองว่า การสร้างมนุษย์ที่จะทำงานให้ได้ในศตวรรษที่ 21 ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาเนื้อหาของการปฏิรูปการศึกษาแต่ละครั้งไม่แตกต่างกัน ปฏิรูปทุกครั้งต้องยุบ ย้ายหน่วยงาน ซึ่งไม่ถูกต้อง ตนเองเสนอเพียงแค่เปลี่ยน 4 อย่าง ก็จะทำให้คุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้น คือ 1. สร้างผู้เรียนให้เกิดแรงบันดาลใจ (Passion) คือต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้คนเกิดแรงบันดาลใจ มีความต้องการที่แท้จริง มีเป้าหมายชีวิตที่แท้จริง 2. หลักสูตรต้องมีการทำ Demand curriculum เท่านั้น จากนี้ไปต้องเป็น Apply science ที่สามารถเอาไปใช้ได้ มีการฝึกงาน ดูงาน ทำให้ชำนาญเฉพาะด้าน
3. ทำสถาบันการศึกษาให้เป็น Learning organization ทำองค์กรให้น่าเรียน น่าอยู่ อาจารย์ต้องทำหน้าที่ในฐานะผู้ดูแลสถานที่ให้เป็นสถานที่ศึกษาที่น่าเรียน น่าอยู่ และ 4. ครูต้องเปลี่ยนจากผู้สอน (Instructor) เป็นผู้อำนวยการสอน (Pure facilitator) เลิกยืนด้านหน้า ต้องยืนข้างๆ หรือหลังนักศึกษา ทำให้เขายืนได้ด้วยตัวเอง
นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ต้องเป็น Global people ไม่ใช่ Thai people คือต้องมีความสามารถ 3 ด้าน ได้แก่ 1. ทางด้านภาษา คือ เป็น Multi languages คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาอาเซียนและภาษาอะไรก็ได้อีกภาษา เช่น ภาษาจีน 2. Multi cultures คือการเรียนรู้หลายหลายวัฒนธรรม 3. Multi skills เช่นถ้าจบวิศวะ ต้องรู้การตลาด การเงิน บัญชี เป็นต้น ทำตัวให้มีทักษะหลายทักษะ แล้วบัณฑิตของท่านจะมีงานทำ
ในส่วนของ ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสมศ. กล่าวว่า สังคมรอบตัวของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว แต่ปรากฏว่าวิธีการสอนของผู้สอนกลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ อีกทั้งบริบทการสอนก็ไม่สามารถนำไปเชื่อมโยงกับชีวิตได้จริง ทำให้บัณฑิตขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ ดังนั้นผู้สอนควรเน้นการเรียนรู้จากการค้นคว้าเองของผู้เรียน โดยผู้สอนคอยช่วยแนะนำ และช่วยออกแบบกิจกรรมที่ช่วยให้บัณฑิตแต่ละคนสามารถประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของตนเองได้ พร้อมส่งเสริมทักษะ 7 ประการ เพื่อเป็นบัณฑิตในศตวรรษนี้ ได้แก่
1.ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม เป็นทักษะพื้นฐานที่มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ทุกคนต้องเรียนรู้เพราะโลกจะยิ่งเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเรื่อย ๆ และมีความซับซ้อนมากขึ้น คนที่อ่อนแอในทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรมจะเป็นคนที่ตามโลกไม่ทัน
2.ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ กระบวนการคิดที่ใช้เหตุใช้ผลพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ตลอดจนพิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูล แล้วตั้งสมมติฐานเพื่อหาสาเหตุของปัญหา และสามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหานั้นๆ กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ จะนำไปสู่การคิดตัดสินใจอย่างรอบคอบ
3.ทักษะด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ แม้ว่าผู้เรียนในยุคนี้ จะเก่งกว่าผู้สอนและผู้ปกครองในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แต่ผู้เรียนก็ยังต้องการคำแนะนำในการใช้เครื่องมือนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้และสร้างสรรค์ และไม่นำไปใช้ในทางที่ทำร้ายตนเอง หรือทำลายอนาคตของตนเอง
4.ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ เนื่องด้วยในปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ตจำนวนมาก บัณฑิตจำเป็นต้องมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร และทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
5.ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้ จะต้องเริ่มตั้งแต่ชั้นประถม (หรืออนุบาล) ไปจนถึง ม. 6 และมหาวิทยาลัย โดยเรียนรู้ตามพัฒนาการของสมอง ผู้สอนจะต้องออกแบบการเรียนรู้แบบแก้ไขจากปัญหา (Problem based Learning) ตามความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน เพราะทักษะกลุ่มนี้เป็นสิ่งที่บัณฑิตต้องเรียนรู้ด้วยตนเองเอง
6.ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม หมายถึงการที่บัณฑิตมีความสามารถในการประสานงานกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี มีทักษะของการเป็นผู้นำ รวมทั้งการเป็นผู้ตามที่ดี สามารถสื่อสารกับผู้อื่นในการดำเนินงานต่างๆ
7.ทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม หมายถึงการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรม และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในความต่างของวัฒนธรรม ตลอดจนวิธีการพัฒนา จัดการบริหาร และคงรักษาความเป็นทีมที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
คณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th