ไทยเจ้าภาพประชุม15-19ก.พ.
‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’
ประเทศไทย โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เจ้าภาพจัด “การประชุมระดับภูมิภาคอาเซียนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่2” 15-19 กุมภาพันธ์ 2559 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โอกาสอาเซียนผนึกกำลังดูแลทรัพยากรธรรมชาติและใช้ประโยชน์พัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคอย่างฉลาดและยั่งยืน
นางอัษฎาพร ไตรยานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ไทยเป็นเจ้าภาพ “Asean Conference on Biodiversity” ครั้งนี้ จัดเป็นครั้งที่ 2 หลังครั้งแรกมีประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพและจะหมุนเวียนในกลุ่มอเซียนเรียงตามลำดับตัวอักษร ซึ่งเป็นการประชุมวิิชาการเพื่อเปิดเวทีให้นักวิชาการในอาเซียน รวมทั้งอาเซียน+3 (รวมจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้),อาเซียน+6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอินเดีย)ให้มานำเสนอผลงานทางวิชาการในการดำเนินการเรื่องการจัดการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งไม่ใช่เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เพื่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างฉลาด
นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนระดับอธิบดี รองอธิบดีที่ทำหน้าที่เป็นคณะมนตรีความหลากหลายทางชีวภาพหรือคณะทำงานว่าด้วยการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพเข้าร่วมด้วย พร้อมด้วยนักวิชาการจากองค์กรอนุรักษ์ระหว่างประเทศ พร้อมด้วยภาคส่วนต่าง ๆ จากประเทศไทย คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 350-500 คน
นางอัษฎาพรกล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งให้อาเซียนมีความเป็นหนึ่งโดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจเดียว โดยวัตถุประสงค์หลักของการประชุมครั้งนี้นอกจากเป็นเวทีวิชาการให้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้ว ยังเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในช่วงปลายปีนี้ด้วย
ทั้งนี้ 3 ประเด็นหลักของการประชุมครั้งนี้คือ 1. การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป้าหมายที่ 15 เป็นเป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพ ที่นายกรัฐมนตรีให้การรับรองไปแล้วในที่ประชุมสหประชาชาติ(UN) เมื่อเดือนกันยายน ปี 2558 ที่ผ่านมา 2. ความเชื่อมโยงระหว่างทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและสุขภาพอนามัย เช่น การนำสมุนไพรและจุลินทรีย์บางชนิดมาทำยา
และ 3. ทำอย่างไรที่จะมีการต่อยอดทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายนายกรัฐมนตรีที่อาเซียนจะเป็นเศรษฐกิจเดียว โดยอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากและยังไม่ได้นำเอาทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมและชาญฉลาด บางครั้งละเลยให้ประเทศที่มีนวัตกรรมมาฉกฉวยเอาทรัพยากรที่สมบูรณ์ของเราไป การประชุมครั้งนี้ จึงถือโอกาสเป็นจุดเริ่มเพื่อหารือกันว่า ทำอย่างไรจึงจะผนึกกำลังการในการดูแลทรัพยากรของเราและใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค ขณะเดียวกันก็ใช้ขีดความสามารถเพื่อดูแลให้มีการใช้อย่างยั่งยืน
นอกจากเวทีวิชาการแล้ว ยังมีนิทรรศการจากหน่วยงานต่าง ๆ อีกจำนวนมาก รวมถึงการจัดดูพื้นที่ที่มีการดูแลทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพไว้ด้วยดี ตอนนี้มี 2 เส้นทาง คือ เขาใหญ่และสวนสัตว์เขาเขียว ส่วนอีกเส้นทางที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่ ฟาร์มจรเข้ ซึ่งมีการจัดการที่ดีในระดับหนึ่ง
ด้านนายอุทัย เอื้ออารีย์จิต รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญที่นานาประเทศต้องการจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เหมาะสมของการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ ภายในปีค.ศ.2020 การเสริมสร้างสมรรถนะของบุคลากรและองค์กรในภูมิภาคอาเซียนในเรื่องการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพตามแนวทางข้อตกลงใหม่ภายใต้อนุสัญญาฯซึ่งมีประเทศอาเซียนเข้าร่วมเป็นภาคีแล้ว6ประเทศ คือ ลาว อินโดนีเซียน เมียนมาร์ เวียตนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศไทยอยู่ระหว่างพิจารณาเข้าร่วม
ในโอกาสเดียวกันนี้ นางอัษฎาพร ไตรยานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ยังเปิดเผยด้วยว่า เนื่องในโอกาสวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี ในปีนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับจังหวัดฉะเชิงเทราและเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำบางปะกง กำหนดจัดงานภายใต้หัวข้อ “พื้นที่ชุ่มน้ำ : วิถีชีวิตที่ยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2559 ณ โรงแรมซันทารา เวลเนส รีสอร์ท อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
กิจกรรมสำคัญประกอบด้วย การเสวนาวิชาการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานในพื้นที่และทัศนศึกษาวิถีชีวิตที่ยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกัง ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่กลางน้ำและพื้นที่ปลายน้ำ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน