“พิเชฐ” ชวนเด็กใช้วิทยุสมัครเล่น
คุยนักบินอวกาศช่วงผ่านไทย
รมต.กระทรวงวิทย์ฯเป็นประธานเปิดกิจกรรม “การสื่อสารกับนักบินอวกาศขององค์การ NASA ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติ โดยใช้ระบบวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทย (NASA ARISS Contact)” ขณะบินผ่านน่านฟ้าประเทศไทย ณ โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ จ.สงขลา พร้อมปาฐกถาพิเศษ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตอบโจทย์สังคมแห่งศตวรรษที่ 21” สร้างแรงบันดาลใจเยาวชนเรียน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ (STEM) เพิ่ม
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (รมว.วท.) เปิดเผยว่า “กิจกรรมการสื่อสารกับนักบินอวกาศขององค์การ NASA ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติ โดยใช้ระบบวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทย (NASA ARISS Contact)” เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ปว.(วต.) สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตัวแทนของโครงการ ARISS (Amateur Radio on the International Space Station) Contact ในภูมิภาคเอเชีย สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันทางการศึกษาใน ประเทศไทย โดยโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบในการจัดกิจกรรม NASA ARISS Contact ในครั้งนี้
ซึ่งกิจกรรมการสื่อสารกับนักบินอวกาศฯ ได้มีการคัดเลือกตัวแทนนักเรียนจากโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) และตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา ทุกคนที่ได้รับคัดเลือกจะมีข้อคำถามที่จะสนทนาพูดคุยกับนักบินอวกาศ ภายในเวลา 10 นาที (ระหว่าง 18.06 – 18.16 น.) ช่วงที่สถานีอวกาศโคจรผ่านบริเวณน่านฟ้าของไทย
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากเยาวชนตัวแทนนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมฯ แล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่มีเยาวชนไทยจากประเทศสหรัฐอเมริกาในโครงการ “ค่ายยุวทูตวิทยาศาสตร์: ค่ายและการทัศนศึกษาวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา” (Young Ambassador in Science and Technology Program) เดินทางมาร่วมกิจกรรมสื่อสารกับนักบินอวกาศในครั้งนี้ด้วย โดยอยู่ในความดูแลและประสานงานของสำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ปว.(วต.) ซึ่งทราบว่าเดินทางทัศนศึกษาและเรียนรู้หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ตลอดจนทำกิจกรรมและเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสงขลาตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา โดยเยาวชนไทยจากอเมริกาเหล่านี้เปรียบเสมือนคนไทยที่เข้าถึงทรัพยากรของสหรัฐอเมริกาในฐานะพลเมืองอเมริกัน และพวกเขาเหล่านี้จะมีโอกาสเข้าไปทำงานในหน่วยงานด้าน วทน.ของสหรัฐอเมริกาได้ในอนาคต
ดังนั้น การปลูกฝังความเป็นคนไทย รักประเทศไทย และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนกลุ่มนี้จะเป็นการวางรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา และแทรกซึมบุคลากรที่มีความเป็นคนไทยและพร้อมที่จะทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยในหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯ คอยเป็นกระบอกเสียงถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับจากกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลประโยชน์ให้แก่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ระยะยาว”
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังกล่าวทิ้งท้าย ถึงกิจกรรมการสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนในครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ช่วยจุดประกายส่งเสริมความก้าวหน้าให้เยาวชนมีแรงผลักดัน มุ่งมั่นที่จะศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ (STEM) มากยิ่งขึ้น โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่และเป็นหนึ่งในนโยบายการปฏิรูป วทน. ที่มุ่งพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าสู่ตลาดธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม ที่สามารถสร้างผลงานนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มศักยภาพและโอกาศในการแข่งขันประเทศด้วย วทน. ในอนาคต
ด้าน รองศาสตราจารย์วรัญ ตันชัยสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ กล่าวว่า กิจกรรมการสื่อสารกับนักบินอวกาศฯ ดังกล่าวเป็นกิจกรรมระยะที่ 2 ของโครงการ ซึ่งระยะแรกที่ได้ดำเนินการมาแล้วเป็นกิจกรรมการจัดค่ายเตรียมความพร้อมเพื่อการสื่อสารกับนักบิน โดยมีการคัดเลือกตัวแทนนักเรียนจากโครงการ วมว. ตัวแทนนักเรียนในเขตจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และจากโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ รวมตัวจริง 12 คน และมีสำรอง 6 คน ดังนั้น นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เป็นตัวแทนที่มีความรู้ความสามารถด้านดาราศาสตร์ เทคโนโลยีอวกาศ ระบบวิทยุเพื่อการสื่อสาร และการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการติดต่อสื่อสาร
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์สำคัญในกิจกรรมดังกล่าวเพื่อต้องการให้นักเรียนได้สนทนากับนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ และซักถามความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศตลอดจนการใช้ชีวิตในสภาวะไรน้ำหนักเป็นระยะเวลานานๆ อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่จะแสวงหาความรู้และประกอบกาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคต ต้องขอขอบคุณสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมวิทยุสมัครเล่นในจังหวัดสงขลา ในการติดตั้งอุปกรณ์วิทยุสมัครเล่นและสถานีวิทยุของชมรมวิทยุสมัครเล่นโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ ซึ่งมีสัญญาณเรียกขาน คือ E29AJ เพื่อการติดต่อกับสถานีอวกาศ
นอกจากนี้ โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ ยังจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย ได้แก่ นิทรรศการสัปดาห์แห่งการสื่อสารกับนักบิน (ตั้งแต่วันที่ 22-30 มกราคม 2559) และช่วงวันที่ 30 มกราคม 2559 มีกิจกรรมบรรยายพิเศษเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน ในหัวข้อ “ถึกและทนจนผ่านค่ายคัดเลือกนักบินอวกาศ” (โดย ดร.พิรดา เตชะวิจิตร์) หัวข้อ “อวกาศที่ทุกคนเข้าถึงได้” (โดย คุณพลกฤษณ์ สุขเฉลิม) หัวข้อ “ ชีวิตและความเป็นไปในสถานีอวกาศ” (โดย คุณชวลิต รัศมีนิล) และ “ปฏิบัติการฉลาดคิดด้วยวิทยาศาสตร์ ฉลาดใช้วิทยุสมัครเล่น ฉลาดล้ำไปในห้วงอวกาศ” เป็นต้น
ช่วงเวลาการติดต่อสื่อสารวันที่ 30 มกราคม 2559 เวลา 18.06 – 18.16 น. ได้มีการถ่ายทอดสดให้ผู้สนใจได้รับทราบผ่าน YouTube channel : PSUWitHatyai,บนหน้าเว็บไซต์ของโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ www.psuwit.psu.ac.th