TMB แนะจับตาGDPยูโรโซน
คาดใกล้เคียง Q3ที่ระดับ0.3%
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีหรือ TMB Analytics แนะนำจับตาตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4 ของยูโรโซนในวันศุกร์(12ก.พ.)ที่จะถึงนี้ คาดเติบโต “ใกล้เคียงกับไตรมาสที่แล้ว”ที่0.3% ด้านกรอบค่าเงินบาทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.20 ถึง 35.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้ และมีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินในภูมิภาคจะยังคงแข็งค่าต่อไปถ้าราคาน้ำมันยังปรับตัวขึ้นต่อหรือมุมมองบนเศรษฐกิจโลกย่ำแย่ลง ด้านผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลคาดว่ายังมีโอกาสลดลงได้อีกจากภาพตลาดที่ไม่รับความเสี่ยง (Risk-Off)
Weekly Economic Outlook:
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนสูงหลังตลาดแรงงานสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวจนสร้างความกังวลว่าเฟดอาจจะไม่สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ภายในปีนี้ ขณะที่ราคาน้ำมันเริ่มทรงตัวได้ยิ่งส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ
สำหรับฝั่งไทย กนง. มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในสัปดาห์ที่ผ่านมา ในสัปดาห์นี้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีหรือ TMB Analytics มีความเห็นว่าตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 4 ของยูโรโซนจะเป็นประเด็นที่ตลาดให้ความสนใจมากที่สุดเพราะจะมีผลต่อการตัดสินใจดำเนินโยบายการเงินของอีซีบีในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 10 มี.ค. สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าสนใจทั้งหมดในสัปดาห์นี้มีดังนี้
พฤหัส – คาดจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานของสหรัฐฯ จะ “ลดลง” มาอยู่ที่ระดับ 280,000 ราย
ศุกร์ – คาดตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 4 ของยูโรโซนจะออกมา “ใกล้เคียงกับไตรมาสที่แล้ว” ที่ระดับ 0.3% และคาดว่าตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ เดือนมกราคมจะ “ขยายตัว” ได้ดีกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 0.1%
FX Market: ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยทั้งสัปดาห์ซื้อขายอยู่ในกรอบ 35.45 – 35.85 และปิดสัปดาห์ไปที่ระดับ 36.55 ในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวลงมาก มาจากทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและกระแสเงินลงทุนที่เริ่มกลับเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียอีกครั้งหลังจากที่ตลาดเริ่มคาดว่าเฟดอาจไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เลยในปีนี้ สำหรับสัปดาห์นี้ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าค่าเงินบาทจะยังแข็งค่าในกรอบ35.20 ถึง 35.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐโดยมีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินในภูมิภาคจะยังคงแข็งค่าต่อไปถ้าราคาน้ำมันยังปรับตัวขึ้นต่อหรือมุมมองบนเศรษฐกิจโลกย่ำแย่ลง
Rate Market: ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปีปรับตัวลงต่อไปที่ระดับ 1.83% (-9bps) ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ยังอยู่ที่ระดับ 2.25-2.28% (-3bps) หลังจากที่ กนง. ยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยวไ้ที่ระดับ 1.5% ด้านดอกเบี้ยสวอป 10 ปียังไม่เปลี่ยนแปลงที่ระดับ 2.40% โดยรวม ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ทำให้ตลาดกลับเข้าสู่โหมดระวัดระวัง (Defensive) อีกครั้งส่งผลให้เกิดแรงซื้อไหลเข้าบอนด์ ในช่วงสัปดาห์นี้ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีจะอยู่ในกรอบ 2.20-2.35% จากแรงซื้อตราสารหนี้ดังกล่าว (Risk-Off) แต่ถ้าราคาน้ำมันยังปรับตัวขึ้นได้ บอนด์ยิลด์ระยะกลาง (3-5ปี) ก็มีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง