สกว.-ธ.ก.ส.หนุน1ตำบล1SMEs
ดึงวิจัยแก้ “เศรษฐกิจฐานราก”
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผอ.สกว. ร่วมหารือกับ นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 องค์กร ถึงแนวทางการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปใช้ในโครงการ “1 ตำบล 1 SMEs” ตามที่รัฐบาลต้องการปฏิรูปการเกษตรของไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้นโดยมีธ.ก.ส.เป็นหัวหอกขับเคลื่อน แนะเป็นงานวิจัยที่ทำให้สินค้าเกษตรขายได้ ทั้งครั้งละจำนวนมากๆและขายได้ในราคาสูง มีกำไรมาก
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ตนทำภารกิจสำคัญ คืออยากให้ ธ.ก.ส. เป็นสถาบันการเงินหลักอันเป็นหัวรถจักรของประเทศในการสร้างการเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตร แสวงหาเกษตรกรที่ใช้เทคโนโลยีเฉพาะในการ ลดต้นทุนและสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรภายในประเทศได้ ตลอดจน ส่งเสริมสหกรณ์การเกษตร สนับสนุนให้ชุมชนตั้งบริษัทขึ้นมาแล้วบริหารจัดการด้วยตนเอง ธ.ก.ส.เล็งเห็นว่า สกว. น่าจะมีงานวิจัยที่สนับสนุนโครงการดังกล่างของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี จึงเชิญเข้าร่วมหารือถึงแนวนโยบายดังกล่าว
รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รอง ผอ.สกว.ด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ กล่าวว่า สกว. มีงานวิจัยพร้อมใช้ที่สามารถสนับสนุนการดำเนินงานตานโยบายของรัฐบาลในโครงการ “1 ตำบล 1 SMEs” ตลอดกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อาทิ งานวิจัยเรื่องมะละกอ ที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นเงิน 100,000 – 150,000 บาท ต่อรอบการผลิต 18 เดือน เราสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยตั้งแต่เศรษฐกิจการผลิตและการตลาดมะละกอ รูปแบบ ระบบการผลิตมะละกอ โดยวิธีสังเคราะห์ข้อมูลจากการปฏิบัติของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการปลูกมะละกอเพื่อการค้า งานวิจัยเรื่องไก่ ที่สร้างเสริมรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 3,000 – 5,000 บาท ต่อเดือน ต่อการผลิต 500 ตัวในระยะเวลา 3 เดือน ทั้งไก่สายพันธุ์โคราชและไก่ประดู่หางดำ ที่กำลังเป็นที่นิยมของตลาดคนรักสุขภาพอยู่ ณ ขณะนี้ เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูง ไขมันต่ำ
ขณะที่ ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง ผอ.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น กล่าวเสริมว่า สกว. มีงานวิจัยที่เรียกว่า “วิจัยเพื่อท้องถิ่น” ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านทำวิจัย เพื่อให้พวกเขารู้ เข้าใจ ตระหนักในปัญหาของตัวเอง และหาวิธีแก้ปัญหาของตัวเอง ซึ่งจะช่วยสร้างพลังที่เข้มแข็งให้กับชุมชน สิ่งที่หน่วยงานรัฐต้องคึงถึงคือ ต้องทำให้เขามีความต้องการ “แสวงหาความรู้” เพื่อแก้ปัญหาชีวิตของตัวเองให้ ได้ เพราะถ้าส่งเสริมให้เขาทำในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ หรือมองไม่เห็นว่าเป็นปัญหาของชุมชนที่เขาได้รับความเดือดร้อน โครงการนั้นอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ด้าน ดร.สุวิทย์ พูลศิลป์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวทิ้งท้ายว่า งานวิจัยที่น่าจะเหมาะสมกับโครงการ “1 ตำบล 1 SMEs” น่าจะเป็นผลงานวิจัยที่หนุนเสริมให้สินค้าเกษตร “ขายได้” โดยคำว่า ขายได้ของเกษตรกรมีสองนัยยะทางความหมายคือ ขายได้ครั้งละจำนวนมากๆ (มีความต้องการทางตลาดสูง) และ ขายได้ในราคาสูง มีกำไรมาก