“โรคหัวใจสลาย… ”
เป็นแล้วถึงตายจริงเหรอ?
“วันวาเลนไทน์” เชื่อว่าเป็นอีกวันหนึ่งที่หลายคนคงตั้งหน้าตั้งตาคอยให้มาถึง เพราะเป็นวันแห่งความรัก เป็นวันที่ทำให้ใครหลาย ๆ คนมีความสุข เพราะมีโอกาสได้บอกรักใครบางคนหรืออาจจะมีใครบางคนมาบอกรัก สำหรับคนที่สมหวังในรักคงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่คนที่ไม่สมหวังในรักหรือที่ถูกเรียกว่า “คนอกหัก” เมธีวิจัย สกว. บอกว่า บางคนอาจจำเป็นต้องมาพบแพทย์โดยด่วน…!!!
Broken-Heart-Syndrome
ดร. นพ.เกริกวิชช์ ศิลปวิทยาทร เมธีวิจัย สกว. อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เวลาอกหัก โดนบอกเลิก หรือได้รับการแจ้งข่าวร้ายที่ทำให้เสียใจมาก ๆ ทันทีทันใด เช่น ป่วยเป็นมะเร็ง หรือคนในครอบครัวเสียชีวิตกระทันหัน อาจมีอาการเจ็บบริเวณหน้าอก หรือหายใจไม่ออก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหัวใจของเราไม่ได้เป็นอะไร แต่เชื่อว่าคนที่ชอบอ่านนิยายคงต้องเคยอ่านเจอเรื่องราวที่ตัวละครไม่สมหวังในรัก หรือต้องพรัดพรากจากคนรักจนถึงขั้นขาดใจตายกันมาบ้างแล้ว แม้แต่ในวรรณคดีไทยเองก็พบเจอได้อยู่บ่อย ๆ เช่น ตอน พระสังข์หนีนางพันธุรัต จนทำให้นางพันธุรัตเสียใจอย่างมาก หัวใจสลายจนขาดใจตาย คิดว่าหลายคนคงเคยตั้งคำถามในใจว่า “หัวใจสลาย” มีอยู่จริงหรือ และมันรุนแรงมากจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้จริงหรือไม่?
“Takotsubo Cardiomyopathy”
คงต้องบอกว่าทุกเรื่องราวในนิยายมักจะมีความจริงปนอยู่ ภาวะหัวใจสลาย ในทางการแพทย์มีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อครับ อาทิ กลุ่มอาการหัวใจสลายหรือกลุ่มอาการอกหัก (Broken Heart Syndrome) โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมที่ถูกเหนี่ยวนำจากภาวะเครียด (Stress Induced Cardiomyopathy) กลุ่มอาการที่หัวใจห้องล่างส่วนปลายโป่งพอง (Apical Ballooning Syndrome) หรือในญี่ปุ่นจะใช้ชื่อว่า “Takotsubo Cardiomyopathy” ซึ่งเป็นกลุ่มโรคหัวใจอีกชนิดหนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจ โดยผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกขึ้นมา หรือหายใจไม่ออกภายหลังจากการเผชิญกับภาวะที่บีบคั้นทางอารมณ์อย่างรุนแรง
อาการดังกล่าวเกิดจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนบีบตัวได้น้อยลง ซึ่งสาเหตุหรือกลไกที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติไปยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด (Stress hormone) ถูกหลั่งออกมาในระดับที่สูงมากทันทีทันใด ซึ่งจะไปมีผลต่อหลอดเลือดหัวใจ และกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง ส่งผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนบีบตัวได้น้อยลงหรือนิ่งไป
โรคนี้ถูกนิยามเป็นครั้งแรกโดยแพทย์ชาวญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1990 โดยเรียกภาวะนี้ว่า “Takotsubo Cardiomyopathy” เนื่องจากว่าเมื่อฉีดสีเข้าไปในห้องหัวใจโดยตรง และบันทึกภาพการเคลื่อนไหวของหัวใจด้วยเอ็กซเรย์ในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ จะเห็นหัวใจโป่องพองเป็นกระเปาะเหมือนไหที่ประมงชาวญี่ปุ่นใช้ใส่ปลาหมึก (“Tako” แปลว่า ปลาหมึก, “Tsubo” แปลว่า ไห)
โรคหัวใจสลายนี้พบได้ทั่วโลก และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะสตรีที่หมดประจำเดือน ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่ร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทนต่อ ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด หรือ Stress hormone ได้น้อยลง
อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีประวัติโรคหัวใจร่วมด้วยหรือไม่ ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการคล้ายกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คือ เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ หน้ามืด นอกจากนี้ยังอาจตรวจพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจพบความผิดปกติของผลเลือดเหมือนที่ตรวจพบในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยการฉีดสีเพื่อตรวจดูหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งในผู้ป่วยโรคหัวใจสลายนี้มักตรวจไม่พบว่ามีร่องรอยของหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
อย่างไรก็ตามเนื่องจากว่าอาการที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจของผู้ป่วยบีบตัวได้น้อยลง ซึ่งผู้ป่วยบางรายพบว่าหัวใจสามารถบีบตัวได้แค่ร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับหัวใจของคนปกติ ดังนั้นผู้ป่วยภาวะหัวใจสลายจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบประคับประคอง และติดตามเฝ้าระวังภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างน้อย 24 ชั่วโมงในโรงพยาบาล ซึ่งโดยทั่วไปอาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 1-8 สัปดาห์ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจรุนแรงมากจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ใครที่มีอาการดังกล่าวจึงควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายว่ามีความผิดปกติของการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจหรือภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วยหรือไม่
วาเลนไทน์นี้ขออวยพรให้ทุกคนมีความสุข สมหวังในทุก ๆ เรื่องนะครับ…!!!
ภาพ-ภาพแรกจาก www.roietweb.com