ไทยเปิดประชุมระดับอาเซียน
ความหลากหลายทางชีวภาพ
ประเทศไทย โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเปิดฉาก “การประชุมระดับภูมิภาคอาเซียนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ ๒ (2ndASEAN Conference on Biodiversity)” ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร โดยมีพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมต.ทรัพยากรธรรมชาติฯเป็นประธานเปิดการประชุม มีผู้เข้าร่วมประมาณ 800 คน
นางอัษฎาพร ไตรยานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การจัดการการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักสำคัญ 3 อย่างคือ
1.เพื่อเฉลิมฉลองการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นการจัดประชุมอาเซียนใหญ่ครั้งแรก นอกจากนี้ยังเป็นคำมั่นสัญญาของพวกเราชาวอาเซียนที่จะมุ่งมั่นในการดำเนินการเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคอาเซียน
2.เป็นเวทีให้นักวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพได้มาแลกเปลี่ยนผลงานทางวิชาการ ประสบการณ์ ความเห็นต่างๆ ซึ่งเราห่างเหินการประชุมใหญ่ๆเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพมานาน ล่าสุดได้มีการจัดขึ้นที่สิงคโปร์ ไทยเป็นเจ้าภาพครั้ง2 โดยครั้งนี้ยังจะเป็นเวทีที่จะนำความคิดเห็นต่างๆในเรื่องของการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพไปเป็นข้อมูล เพื่อจัดการท่าทีความเข้าใจของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อนำไปสู่การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นการประชุมสมัย13ที่จะจัดขึ้นที่เม็กซิโกระหว่างวันที่ 4-17 ธันวาคม 2559 การประชุมครั้งนี้จะเป็นการประเมินความสำเร็จในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายไอจิ เป้าหมายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ที่จะป้องกันการสูญเสียทางความหลากหลายทางชีวภาพของโลก
“เพราะเราเป็นภูมิภาคอาเซียนมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก โดยมีสรรพสิ่งหรือสิ่งมีชีวิตต่างๆมากถึง20% ของสรรพสิ่งหรือสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่พบในโลกนี้ และจะดูว่าเรามีการแลรักษาสรรพสิ่งหรือสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เอาไว้ได้อย่างไรและจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคอย่างไร”
นางอัษฎาพร กล่าวต่อว่า สำหรับประโยชน์ของประเทศไทยที่จะได้รับจากการประชุมครั้งนี้คือ การจัดงานครั้งนี้ประสบความสำเร็จ โดยการจัดงานครั้งที่สิงคโปร์มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 300 คน แต่ครั้งนี้มีจำนวนมากกว่า 800 คน เป็นผู้แทนจากภูมิภาคอาเซียน, อาเซียน+3 ,อาเซียน+6, ผู้แทนจากสหรัฐอเมริกาและอียู. รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องทั่วโลกซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องจำนวนมากและนำไปเป็นข้อมูลทางวิชาการเพื่อทำงานการอนุรักษ์ รวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ มีการพัฒนามูลค่าความหลากหลายทางชีวภาพแทนที่จะให้ประเทศอื่นมาช่วงชิงเอาไป
โดยไฮไลท์คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจกับการอนุรักษ์ สอดพ้องตามนโยบาย “ประชารัฐ” ของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำอย่างไรให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจและประชาชนท้องถิ่นได้รับประโยชน์จากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ในขณะเดียวกันก็ช่วยกันดูแลให้มีความคงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปด้วย
โดยภาพรวมประโยชน์ที่ไทยได้แน่นอนจากการประชุมครั้งนี้คือ ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ได้ภาพลักษณ์จากการจัดนิทรรศการที่แสดงถึงโครงการอนุรักษ์ต่างๆ เช่น โครงการอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี ที่นำปูตัวใหญ่มาโชว์และได้รับความสนใจจากนักข่าวต่างประทศอย่างมาก โดยได้รับการการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมของไทย ที่เสริมสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนในท้องถิ่นทำให้มีการดูแลทรัพยากรของตนเองและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้การประชุมด้านความหลากหลายทางชีวภาพยังช่วยกระตุ้นและเพิ่มพูนความร่วมระหว่างประเทศที่จะนำไปสู่ความร่วมมือ และได้ประโยชน์ด้านข้อมูล เป็นโอกาสรวบรวมข้อมูลต่างๆให้เป็นระบบ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการและจัดการผลประโยชน์ที่เป็นธรรม
อนึ่งการจัดประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมวิชาการ 3 วัน คือวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ 2559 และ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นการศึกษาดูงานด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์การดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงเพื่อบูรณาการงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพและฟื้นฟูระบบนิเวศของประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างมีเอกภาพและก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างมีทิศทาง
ขณะเดียวกันยังมีการนำเสนอผลงานและอภิปรายในประเด็นต่างๆ อาทิ ภาคธุรกิจกับความหลากหลายทางชีวภาพ รายงานโลกทรรศน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งอาเซียน ฉบับที่ 2 การดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ความหลากหลายทางชีวภาพและเป้าหมายไอจิ ค.ศ. 2011 – 2020
การเสริมสร้างสมรรถนะของบุคลากรและองค์กรในภูมิภาคอาเซียนในเรื่องการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพตามแนวทางพิธีสารนาโงยา รวมถึงการริเริ่มที่ประเทศไทยประสงค์จะผลักดัน เช่น การส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน ในเรื่องการจัดการพื้นที่คุ้มครองข้ามพรมแดน รวมถึงการแสดงนิทรรศการของประเทศสมาชิกอาเซียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นการประชุมเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมคณะที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ วิชาการ และเทคโนโลยี ครั้งที่ 20 (SBSTTA) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 13 ที่กำหนดจัดเดือนธันวาคม 2559ณ สหรัฐเม็กซิโก