นักวิจัยไทยค้นหามวลนิวตริโน
จุดความสนใจคล้ายแรงโน้มถ่วง
นักวิจัยไทยเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติ เรื่องการค้นหาการสลายของสารกัมมันตรังสีให้อนุภาคบีตาสองอนุภาคภายใต้ความร่วมมือ อะมาแร (AMoRE Collaboration) เพื่อร่วมกันหาว่า นิวตริโนมีมวลหรือไม่ หนึ่งในคำถามที่นักวิทยาศาสตร์ยังหาคำตอบไม่ได้จนถึงปัจจุบัน ชี้สร้างเครือข่ายวิชาการระดับนานาชาติ ทำให้นักศึกษาในเครือข่ายวิจัยได้เปิดมุมมองการค้นหาคำตอบด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ขั้นสูงสู่การนำไปต่อยอดได้ ดีต่อประเทศที่กำลังก้าวสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม
ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช รองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว ในระหว่างเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติ เรื่องการค้นหาการสลายของสารกัมมันตรังสีให้อนุภาคบีตาสองอนุภาคภายใต้ความร่วมมือ อะมาแร (AMoRE Collaboration) เพื่อร่วมกันหาค่ามวลของนิวตริโน ว่า จากกระแสข่าวการพิสูจน์ว่าคลื่นความโน้มถ่วงมีจริง โดยทีมวิจัยกว่าพันคนทำงานร่วมกันหลายสิบปีเพื่อสร้างเครื่องตรวจจับสัญญาณคลื่นดังกล่าวที่เกิดจากการชนกันของสองหลุมดำเมื่อ 1,300 ล้านปีก่อน และทำให้ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้ทำนายไว้เมื่อ 100 ปีก่อน ได้รับการยืนยันว่า ผลของอากาศเวลา บิดโค้งงอได้ โดยการค้นพบดังกล่าวจะช่วยตอบคำถามว่าความโน้มถ่วงคืออะไร ซึ่งเป็นหนึ่งในคำถามที่นักวิทยาศาสตร์ยังหาคำตอบไม่ได้จนถึงปัจจุบัน คำถามเหล่านั้น อาทิ สะสารมืดและพลังงานมืดคืออะไร อนุภาคมูลฐานพลังงานสูงมาจากไหน มีทฤษฎีที่ใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างแสงกับสะสารที่มีพลังงานและอุณหภูมิสูงหรือไม่ โปรตรอนเสถียรหรือไม่ มีปริมาณอื่นๆนอกจากเจ็ดปริมาณพื้นฐานอีกหรือไม่ จักรวาลเริ่มต้นอย่างไร และหนึ่งในคำถามเหล่านั้น คือ นิวตริโนมีมวลหรือไม่
“เมื่อปีที่แล้ว 2 นักฟิสิกส์ จากญี่ปุ่นและแคนาดา ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ จากความประสบความสำเร็จในการทดลองที่ยืนยันว่าอนุภาคนิวตริโนสามารถเปลี่ยนรูปจากอนุภาคแบบหนึ่งไปอีกแบบหนึ่งได้ ซึ่งเป็นสมบัติที่สำคัญว่าอนุภาคนั้นมีมวลอยู่ แต่ก็ยังไม่สามารถทำการทดลองที่ระบุค่ามวลของนิวตริโนได้ คำตอบที่ได้จะนำไปสู่ความเข้าใจเรื่องโมเดลพื้นฐานที่ยังขาดความเข้าใจกันอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่นักฟิสิกส์จากทั่วโลกเริ่มต้นจากการตั้งสมมติฐานว่านิวตริโนมีอยู่ตั้งแต่ 85 ปีก่อน จนมาเริ่มการทดลองครั้งแรกเมื่อ 68 ที่แล้วในการสร้างเครื่องตรวจวัดนิวตริโน จนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถหาค่ามวลของนิวตริโนได้ แต่ระหว่างทางได้พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงหลายชิ้น อาทิ การปลูกผลึกเปล่งแสงขนาดใหญ่ การทำธาตุให้บริสุทธิ์เพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นในการทดลอง การพัฒนาเครื่องตรวจวัดแสงอย่างละเอียด ระบบมาตรวิทยา เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อการเล่นแร่แปรธาตุทั้งสิ้น” ดร.วรวรงค์ กล่าว
ดร.วรวรงค์ กล่าวอีกว่าประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ซึ่งจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายด้าน ในการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการของไทย โดยรัฐให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ถึงแม้ว่าการทดลองเพื่อค้นหาคำตอบของอนุภาคมูลฐานนี้เป็นการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานก็ตาม แต่เทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาระหว่างทางเป็นสิ่งที่มวลมนุษยชาติสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
“การสร้างเครือข่ายวิชาการระดับนานาชาติแบบนี้เป็นสิ่งที่คนไทยต้องการ เพราะไม่เพียงแต่อาจารย์และนักวิจัยจะได้ประโยชน์ นักศึกษาที่อยู่ในเครือข่ายวิจัยนี้จะได้เปิดมุมมองในการค้นหาคำตอบโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้นักศึกษามีทักษะการคิดวิเคราะห์ขั้นสูงและเกิดความคิดที่สามารถนำไปต่อยอดได้ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่นักศึกษาไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเครือข่ายวิจัยระดับนานาชาติ” ดร.วรวรงค์ กล่าว