ไทยจัดประชุมเทคฯ-นวัตกรรม
AUTM Asia 2016 เชียงใหม่
สวทช. ผนึกกำลัง 8 หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา จัดประชุมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก AUTM Asia 2016 ที่เชียงใหม่ หวังส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำผลวิจัยจากสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยไปต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ หนุนไทยศูนย์กลางเชื่อมโยงนักวิชาชีพการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานประชุมนานาชาติ AUTM Asia 2016 เปิดเผยถึงการจัดการประชุมนานาชาติAUTM Asia 2016 ขึ้น ระหว่างวันที่ 15-18 มีนาคม 2559 ณ โรงแรมแชงกรีล่า จังหวัด เชียงใหม่ ว่า ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม AUTM Asia ในปีนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงนักวิชาชีพการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและนักจัดการเทคโนโลยี/นวัตกรรมจากหลากหลายประเทศทั่วโลกมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา การถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ การแบ่งปันประสบการณ์การเกี่ยวกับการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม
“การประชุมนานาชาติ AUTM Asia 2016 ที่ไทยเราเป็นเจ้าภาพ จะเป็นการประชุมวิชาการนานาชาติที่รวบรวมองค์ความรู้มากมายจากมุมมองของวิทยากรจากทั่วโลกมารวมอยู่ในงานเดียว เพื่อสนับสนุนกิจกรรมและกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี เน้นการส่งเสริมให้เกิดการนำผลวิจัยจากสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยไปต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น” รองผู้อำนวยการ สวทช.กล่าว
ทั้งนี้ การจัดงานได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.),สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.),สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.),มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.), ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ศลช.), กรมทรัพย์สินทางปัญญา (ทป.) และสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA)
งานประชุม AUTM Asia 2016 จะมีทั้งการประชุมและการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โดยมีหัวข้อที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่ม Startup ได้แก่ เรื่องการต่อยอดนวัตกรรมและการวิจัยเพื่อนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ การเจรจาต่อรองด้านเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกรณีศึกษาของบริษัทเกิดใหม่ (Startups) ที่ประสบความสำเร็จ โดยการนำเอาองค์ความรู้ไปเพิ่มมูลค่า นวัตกรรมรองรับสังคมผู้สูงอายุ นวัตกรรมการเกษตร นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น
“ประเทศไทยมีนักวิจัยและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในสายงานดังกล่าวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้พัฒนานวัตกรรม นักวิจัย ที่เปรียบเป็นต้นน้ำ หรือนักวิชาชีพในสายงานการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงผู้ประกอบการทั้งธุรกิจเกิดใหม่ (Startups) SME บริษัทขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อันเปรียบเสมือนปลายน้ำ การจัดประชุมครั้งนี้จึงมีความสำคัญต่อประเทศอย่างมาก เพราะจะเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการก่อให้เกิดเครือข่ายผู้จัดการนวัตกรรมในประเทศไทยอีกทั้งยังเป็นการรวมกลุ่มคนและองค์ความรู้ ทั้งด้านการจัดการนวัตกรรมและการวิจัยเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ และเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ http://autmthailand2016.net/