ครั้งแรกไทย เพย์เมนต์ เน็ตเวิร์ก
เปิดเครือข่ายบัตรฯในประเทศ
TPN เปิดตัวเครือข่ายบัตรอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศหรือ Local Card Scheme เป็นครั้งแรกในไทย กระตุ้นให้คนไทยชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อเดินหน้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” ในอนาคต ชี้เป็นประโยชน์ร้านค้าและธนาคารมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง บัตรเดบิต TPN มีมาตรฐานความปลอดภัยที่ดี และมีเครือข่ายร้านค้ากว้างขวางขึ้น ทั้งร้านค้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ลูกค้าสามารถทำการชำระเงินได้สะดวกสบายขึ้น
บริษัท ไทย เพย์เมนต์ เน็ตเวิร์ก หรือ TPN เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มธนาคารไทยและยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนลของจีน ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายการชำระเงินระดับโลก และมีฐานลูกค้าบัตรเดบิตที่ใหญ่ที่สุดใหญ่ โดยTPN จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้บัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มทุกใบต้องใช้มาตรฐานความปลอดภัยแบบ EMV Chipภายในกลางปี 2559 นี้ และรายการที่ทำผ่านบัตรเดบิตที่ออกในประเทศทุกรายการต้องได้รับการประมวลผลในประเทศ
ทั้งนี้ TPN จะทำหน้าที่ประมวลผลการชำระเงินในประเทศ ให้บริการสวิตช์ชิ่งข้อมูลสำหรับการชำระเงินผ่านบัตรเดบิตยูเนี่ยนเพย์ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายระบบชำระเงินใหม่เพื่อรองรับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย
สำหรับการจัดตั้งเครือข่ายระบบชำระเงินในประเทศมีประโยชน์หลายประการ รวมทั้ง ร้านค้าและธนาคารมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง บัตรเดบิต TPN มีมาตรฐานความปลอดภัยที่ดี และมีเครือข่ายร้านค้าที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งร้านค้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมทั้งลูกค้าสามารถทำการชำระเงินได้อย่างสะดวกสบายขึ้น
นายโชค ณ ระนอง ประธานบริษัท TPN กล่าวว่า บัตรเดบิต TPN ที่ออกภายใต้แบรนด์ในประเทศ (local card scheme) จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่เจ้าของร้านค้าจะมีความเสี่ยงน้อยลงเพราะไม่ต้องเก็บเงินสดจำนวนมาก ลูกค้าซื้อของและจ่ายเงินได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ในขณะที่รัฐบาลสามารถลดต้นทุนด้านการบริหารงานที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงิน และผู้ให้บริการด้านการเงินก็สามารถให้บริการอีเพย์เมนต์ด้วยราคาที่ถูกลง นอกจากนี้เมื่อต้นทุนในการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ถูกลง ลูกค้าก็สามารถชำระค่าสินค้าและบริการมูลค่าน้อยๆ ผ่านอีเพย์เมนต์ได้ และยังมั่นใจในความปลอดภัยของระบบ ‘Chip and PIN 6 หลัก’ ได้อย่างเต็มที่
“ธุรกรรมบัตรเดบิตคิดเป็นเพียง 2% ของมูลค่าการถอนเงินสดผ่านเครื่องเอทีเอ็มทั้งหมด ที่ผ่านมา ร้านค้าไม่มีแรงจูงใจรับบัตรเดบิต เนื่องจากค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมสูง และลูกค้าส่วนใหญ่ไม่มีความมั่นใจในการใช้บัตร และกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของบัตรแม่เหล็ก ผมมั่นใจว่า ด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลงมาก และมาตรฐานความปลอดภัยสูงด้วยระบบ ‘Chip and PIN 6’ บัตรเดบิตTPN จะได้รับความนิยมและใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มเจ้าของกิจการขนาดเล็ก ลูกค้าทั่วไป และธนาคารผู้ออกบัตร”
Mr. Ge Huayong กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทไชน่า ยูเนี่ยนเพย์ (Chairman, China UnionPay) กล่าวว่า “โครงสร้างของความร่วมมือทางเครือข่ายการให้บริการสวิตช์ชิ่งภายในประเทศ (local switching network) ระหว่างสถาบันการเงินหลักในประเทศไทยนับเป็นอีกขั้นของความร่วมมือทางด้านการเงินระหว่าง จีน-ไทย มาถึงตอนนี้เราพร้อมแล้วที่จะนำประสบการณ์นานนับหลายปีของบัตรยูเนี่ยนเพย์มาให้บริการในประเทศไทย โดยพัฒนาผ่านระบบ TPN และช่องทางต่างๆที่เป็นไปได้ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของตลาดการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment)ของไทย”
“เราต้องการให้การชำระเงินด้วยบัตรธนาคาร (Bankcard Payment) เข้าถึงระบบชำระเงินได้ในหลากหลายช่องทาง รวมไปถึงร้านค้ารายย่อย ระบบสาธารณูปโภค และสนับสนุนการให้บริการชำระเงินในประเทศ เราจะนำประโยชน์ต่างๆจากบัตรยูเนี่ยนเพย์เข้ามามีส่วนร่วมในโครงสร้างการชำระเงินและพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย โดยเราจะเสริมคุณภาพการให้บริการและสนับสนุนศักยภาพเครือข่ายยูเนี่ยนเพย์อย่างต่อเนื่อง” Mr. Ge Huayong กล่าวเพิ่มเติม
ยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนลและธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ถือหุ้นเบื้องต้นของ TPN ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์อีก 3 แห่ง ได้แก่ กสิกรไทย กรุงไทย และไทยพาณิชย์ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงแสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นใน TPN แล้วในปีที่ผ่านมา