สปก.-สำนักนายก-ทภ.4 นราฯ
มอบบ้านผู้ประสบภัยคลื่นเซาะฝั่ง
สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) ร่วมกับกองทัพภาคที่ 4 จ.นราธิวาสและสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการจัดซื้อที่ดินตามโครงการพิเศษด้านความความมั่นคงที่จ.นราธิวาสเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นกัดเซาะชายฝั่งและน้ำทะเลท่วมบ้านเรือนเสียหาย พร้อมสร้างบ้านพักอาศัย ตั้งชื่อ “บ้านประชารัฐร่วมใจ” ซึ่งที่ดินแปลงที่หนึ่ง ณ บ้านบาเฆะ ต.โคกเคียน อ.เมือง ได้จัดสรรที่ดินและสร้างบ้านเสร็จแล้ว ล่าสุดหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานส่งมอบสำเนาทะเบียนบ้านและหนังสือรับรองที่ดินให้แก่ผู้ประสบภัย
ม.ล.ปนัดดา ดิสกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานโครงการ “สำนักนายกรัฐมนตรี จับมือส.ป.ก.จัดที่ดินสร้างบ้านให้ผู้ประสบภัยนราธิวาสเสริมความมั่นคงชายแดนใต้” ว่า โดยข้อเท็จจริงประเทศไทยที่ผ่านมาไม่มีความแบ่งแยกหรือแตกแยกเลย แต่10กว่าปีที่ผ่านมาประเทศไทยเราหลงทาง นำแนวคิด “แบ่งแยกและปกครอง” มาใช้ ทำให้เกิดความแบ่งแยก เกิดภาคนิยม จังหวัดนิยม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เราไม่ควรนำนโยบายการแบ่งแยกมาใช้ “เรารักจังหวัดได้ แต่เราต้องรักประเทศชาติมากกว่า” ทั้งนี้อยากให้ผู้นำหมู่บ้านมีความภาคภูมิใจในการเกิดเป็นคนไทย สิ่งนี้ควรอยู่ในใจตลอดไป
สำหรับบ้านประชารัฐร่วมใจ ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย เนื่องจากเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ซึ่งตรงใจของท่านนายกรัฐมนตรและเกิดจากงบประมาณของประเทศชาติที่เป็นของทุกคน ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้ย้ำเสมอว่า การใช้เงินจะต้องใช้อย่างโปร่งใสและคุ้มค่า ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น จึงอยากให้เจ้าของบ้านหวงแหนรักษาบ้านเอาไว้เพราะเงินที่นำมาใช้นั้นเป็นเงินงบประมาณของประชาชนทุกคน”
ด้านนางเปรมจิต สังขพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือสปก.เปิดเผยว่า “การที่สปก.ได้ดำเนินการจัดที่ดินตามโครงการพิเศษด้านความมั่นคงที่จ.นราธิวาส โดยร่วมมือกับกองทัพภาคที่4 จ.นราธิวาส และสำนักนายกรัฐมนตรีในการจัดซื้อที่ดิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้น้ำทะเลท่วมบ้านเรือนประชาชนที่บ้านบาเฆะ อ.เมือง จ.นราธิวาส โดยใช้งบประมาณ19,311,275ล้านบาทในการจัดซื้อที่ดิน 2 แปลง สำหรับที่ดินแปลงที่1 ที่บ้านบาเฆะ มีเนื้อที่ 5-2-33 ไร่ จัดสรรให้กับผู้ประสบภัย จำนวน 22ราย รายละ80 ตารางวา ที่ดินแปลงที่2เนื้อที่ 2 เนื้อที่ 93-0-03ไร่ ตั้งอยู่บ้านบือราเปะ จะจัดสรรให้ผู้ประสบภัย 28 ราย รายละ 1 ไร่
ในแปลงที่1ได้ก่อสร้างบ้านเรือนและสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำประปาเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมให้ประชาชนเข้าไปอยู่อาศัย ตั้งชื่อว่า “บ้านประชารัฐร่วมใจ”
เนื่องจากที่ดินที่นำมาจัดสรรให้กับผู้ประสบภัยนั้นเป็นที่ดินเอกชนที่ส.ป.ก.ใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจัดซื้อมา ดังนั้นการจัดให้เกษตรกรหรือการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ จะเป็นการให้เช่า หรือเช่าซื้อ ซึ่งจะคิดอัตราค่าเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอิงตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ ในที่ดินแปลงที่ 1 ที่บ้านบาเฆะ ราคาประเมินอยู่ที่ไร่ละ 310,000บาท ต้องเสียค่าเช่า60บาทต่อปี (ต่อพื้นที่ 80 ตารางวา)ส่วนที่บ้านบือราเปะ ราคาประเมินอยู่ที่ไร่ละ220,000บาทต่อไร่ จะต้องเสียค่าเช่า 300 บาทต่อไร่ต่อปี อย่างไรก็ดีในเบื้องต้น ผู้ประสบภัยมีมติขอเช่าที่ดินไปก่อนเป็นเวลา3-4ปี หากมีความพร้อมมีรายได้เพียงพอจึงเปลี่ยนเป็นเช่าซื้อต่อไป”
บ้านหลังใหม่ในที่ดินจัดสรรแปลงที่1 ต่อไป
นายอาแว ตาเยะ ประธานหมู่บ้านประชารัฐร่วมใจ ชี้ซากบ้านหลังเก่าซึ่งพังเสียหายใกล้เนินทรายที่ถูกน้ำซัดกองสูงเกือบครึ่งบ้าน
แนวกั้นเขื่อนริมทะเลที่ช่วยบรรเทากระแสคลื่นทะเลแรง
ที่ดินแปลงที่2 ที่บ้านบือราเปะจัดเตรียมและเริ่มก่อสร้างในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559
คาดว่าจะแล้วเสร็จราวช่วงเดือนสิงหาคมนี้
นายอาแว
นายอาแซ
นายอาแว ตาเยะ ประธานหมู่บ้านประชารัฐร่วมใจและนายอาแซ อาแว รองประธานหมู่บ้านและหมอพื้นบ้านเปิดเผยว่า หมู่บ้านบาเฆะเดิมตั้งอยู่ในเขตที่เป็นทะเลในปัจจุบันไกลไปอีกราว 10 กิโลเมตร แต่ถูกคลื่นทะเลเกาะซัดชายฝั่งมาทุกปี โดยคลื่นทะเลที่ยกตัวสูงเฉลี่ย 3-4 เมตร ทำชายฝั่งสูญหายไปประมาณ 15 เมตรต่อปี จนในวันที่ 22 ธันวาคม 2557 เหตุการณ์รุนแรงเมื่อเกิดคลื่นทะเลกตัวสูงกัดเซาะชายฝั่งและเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรพังเสียหายไปจำนวน 50 ราย ทางจังหวัดนราธิวาส กองทัพภาคที่ 4 สปก.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือ
สำหรับแนวเขื่อนกั้นน้ำริมชายฝั่งเพิ่งสร้างเสร็จมาประมาณ 8 เดือน ล่าช้ากว่าที่ร้องขอมานานนับ 10 ปีเนื่องจากรัฐบาลไม่มีงบประมาณลงมา ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาลดความรุนแรงของกระแสคลื่นได้บ้าง อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องการคือ การสร้างแนวเขื่อนเป็นรูปตัว T
“ผมในฐานะตัวแทนหมู่บ้านประชารัฐดีใจที่ทางสปก.และคณะทำงานและหน่วยงานอื่น ๆ มาช่วยดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งได้ร้องขอไปว่า ขอให้อยู่ใกล้ที่อยู่เดิมที่เคยทำมาหากิน อยากให้ท่านนายกรัฐมนตรี รัฐบาลช่วยประชาชนอย่างดีที่สุด และนอกจากแก้ปัญหาเรื่องคลื่นทะเลแล้ว ยังต้องการให้ช่วยเหลือด้านการศึกษาของเด็ก ๆ ด้วยเช่นกัน” นายอาแวกล่าว
อนึ่งในการดำเนินการก่อสร้างบ้านประชารัฐร่วมใจ เกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานมาช่วยกัน ได้แก่ ทหารช่าง หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน ตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาสและกองร้อยรักษาดินแดนจังหวัดนราธิวาสมาช่วยงานด้านก่อสร้างบ้าน
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการในจังหวัดนราธิวาสมาร่วมด้วย อาทิ องค์การบริหาารส่วนตำบลโคกเคียน ,องค์กรบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส, สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนราธิวาส, สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองนราธิวาส ,สำนักงานกรมเจ้าท่านราธิวาส, การประปาส่วนภูมิภาค สาขานราธิวาส ,อำเภอเมืองนราธิวาส และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาสร่วมกันจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างถนน ระบบไฟฟ้า ประปาและอื่น ๆ ให้
ขณะที่หน่วยงานในคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนราธิวาส หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานอื่น ๆ ในจังหวัดนราธิวาสร่วมดำเนินการบูรณาการพัฒนาการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ให้กับผู้ประสบภัย เช่น การผลิตน้ำบูดู การผลิตปลาเค็มตากแห้ง การเลี้ยงไก่ เป็ดและเพาะเห็ด การปลูกผักตามฤดูกาลและปลูกผักสวนครัว การร่วมดำเนินงานรูปแบบรวมกลุ่มและการเป็นหมู่บ้านสีขาว