สกว.มอบรางวัล 21 งานวิจัยเด่น
เร่งสร้างองค์ความรู้ลดเหลื่อมล้ำ
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบโล่เกียรติยศ 21 ผลงานวิจัยเด่นสกว. ประจำปี 2558 ณ โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพฯ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรตินักวิจัยที่ผลิตผลงานที่มีคุณค่าและเป็น “ต้นแบบ” ของการทำงานวิจัยที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ มิติ รองนายกฯ ย้ำนักวิจัยต้องช่วยกันสร้าง ‘องค์ความรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ’ ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียม สู่เป้าหมายมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน
รองนายกรัฐมนตรีได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” ระบุ ผลงานวิจัยเด่นทั้ง 21 ผลงาน จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ในอนาคต 10 ปีต่อจากนี้นับเป็นความท้าทายใหญ่ของประเทศ เมื่อสังคมไทยก้าวสู่สังคมสูงอายุ เศรษฐกิจไร้พรมแดน การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก พัฒนาการด้านความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งหมดนี้ต้องการฐานองค์ความรู้ที่ถูกต้อง แม่นยำ ครบถ้วน ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างเข้มข้น สามารถปรับใช้และขับเคลื่อนภายใต้สภาวการณ์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อให้สังคมไทยมีปัญญา รู้เท่าทัน เห็นจุดเสี่ยง และโอกาส สามารถรับมือได้ทั้งระดับปัจเจก สังคม และระดับประเทศ ความรู้ที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมจึงเป็น “ความรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ”
ทั้งนี้กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2559- 2577) กำหนดวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 จะเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล จึงมีความเชื่อมั่นว่านักวิจัยและ สกว.จะสร้างความรู้ สนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลตามมา ซึ่งหลักการบริหารแผ่นดินของรัฐบาลให้ประเทศต้องเป็นไปตามแนวทางพระราชดำริ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ขณะที่หลักของการพัฒนาควรยึดหลักสมดุล ต้องอาศัยผลงานวิจัยเป็นฐานในการเชื่อมโยงตอบสนองต่อการบรรลุซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตสร้างรายได้ระดับสูงเท่าเทียมประเทศที่พัฒนาแล้ว และสร้างความสุขของคนไทย ให้สังคมมีความมั่นคง เสมอภาคและเป็นธรรม ประเทศสามารถแข่งขันในระบบเศรษฐกิจได้
รองนายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลปัจจุบันพร้อมที่จะสนับสนุนนักวิจัยอย่างเต็มที่ในการศึกษาวิจัย ทั้งทรัพยากรการวิจัย และการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของงานวิจัย รวมถึงการพัฒนาระบบวิจัยทุกด้านไปถึงการขับเคลื่อน เนื่องจากความรู้จากงานวิจัยนอกจากจะช่วยเสริมสร้างฐานใหม่ของประเทศแล้ว ยังช่วยเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อาทิ กระแสการเปิดเศรษฐกิจเสรี การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความท้าทายจากเทคโนโลยีใหม่ นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) ที่สำคัญองค์ความรู้ที่ได้ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ในเรื่องของการเข้าถึงข้อมูล การบริการจากรัฐ จะทำอย่างไรให้การเข้าถึงของประชาชนทุกคนอยู่บนบรรทัดฐานที่รวดเร็ว และเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
ด้าน ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า เกณฑ์ในการคัดเลือกผลงานวิจัยเด่นปีนี้ คือ ต้องเป็นผลงานที่ประสบผลสำเร็จ มีผู้ใช้ประโยชน์ และเห็นผลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 โดยผลงานสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวงการที่เกี่ยวข้อง หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม หรือนำไปสู่การพัฒนาในวงกว้าง ดำเนินงานตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ รวมถึงมีวิธีการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ผลงานวิจัยเด่นจะเป็นตัวแบบของการทำงานวิจัยที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม และองค์ความรู้ใหม่ เพื่อยกระดับวงวิชาการ การวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มมูลค่าให้แก่ภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการวิจัยเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง และสร้างสังคมการเรียนรู้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งการสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในทุกระดับนี้จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับผลงานเด่นวิจัยที่ผ่านการคัดเลือก มี 5 ด้านประกอบด้วย
1) ผลงานวิจัยเด่นด้านนโยบาย จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ 1. แนวทางการพัฒนาพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม จังหวัดกระบี่ อย่างยั่งยืน ผศ. ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 2. เมธีวิจัยอาวุโส สกว. เพื่อพัฒนาศักยภาพการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
2) ผลงานวิจัยเด่นด้านสาธารณะ จำนวน 5 ผลงาน ได้แก่ 1. การประเมินศักยภาพการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซชีวภาพด้วยการหมักร่วมและอัตราการทดแทนเชื้อเพลิงไม้ฟืนของสหกรณ์ผลิตยางแผ่นรมควัน รศ. ดร.สุเมธ ไชยประพัทธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2. โครงการวิจัยเพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชนที่สามารถช่วยในการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ เด็กพิการทางกายภาพในชนบทที่ห่างไกล ผศ. ดร.ชูจิต ตรีรัตนพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 3. องค์ความรู้พื้นฐานและประยุกต์ของโรคปรสิตและปรสิต ศ. ดร.วันชัย มาลีวงษ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 4. การพัฒนาต้นแบบการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV อย่างยั่งยืนด้วยการฝากยีนต่อต้านการติดเชื้อ HIV ชนิดพิเศษในเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ดร.วรรณนิษา คำอ้ายกวิน และ ศ. ดร.ชัชชัย ตะยาภิวัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 5. การขับเคลื่อนการพัฒนาการสหกรณ์และการค้าที่เป็นธรรม รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3) ผลงานวิจัยเด่นด้านพาณิชย์ จำนวน 3 ผลงาน ได้แก่ 1. การสร้างสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราชเพื่อการผลิตเป็นอาชีพวิสาหกิจชุมชน ผศ. ดร.อมรรัตน์ โมฬี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสรุนารี 2. การวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารและการสร้างแต้มต่อทางธุรกิจ “วิจัยได้…ขายจริง” ผศ. ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 3. โครงการพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีอุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพแบบบูรณาการในการแปรสภาพวัสดุชีวมวลทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มเพื่อต่อยอดสู่ระดับอุตสาหกรรม ศ. ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
4) ผลงานวิจัยเด่นด้านชุมชนและพื้นที่ จำนวน 6 ผลงาน ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบการสร้างอาชีพการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่สู่มาตรฐานฟาร์มและโอกาสทางการเกษตร รศ. ดร.ศิริพร กิรติการกุล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 2. การวางแผนจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อความมั่นคงด้านน้ำจังหวัดสมุทรสงคราม นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม 3. การพัฒนารูปแบบการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่งเพื่อการพึ่งตนเองของชาวประมงพื้นบ้านในตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ผศ. ดร.ชัยรัตน์ จุสปาโล มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ 4. รูปแบบการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนในพื้นที่เสี่ยงสูงและต่ำ จังหวัดนครศรีธรรมราช รศ. ดร.จรวย สุวรรณบำรุง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 5. ชุดโครงการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน นายเมธวัฒน์ พุทธิธาดากุล สมาคมคนต้นน้ำ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน 6. กระบวนการถอดบทเรียนเพื่อสร้างการเรียนรู้กรณีการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินทำกิน ตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดตรัง นายคมสัน หลงละเลิง ทีมงานภาคประชาชน
5) ผลงานวิจัยเด่นด้านวิชาการ จำนวน 5 ผลงาน ได้แก่ 1. การประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในการศึกษาสมบัติพิเศษของวัสดุขั้นสูงสำหรับใช้ในเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ ผศ. ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 2. ซิลเทมาติคส์และชีวภูมิศาสตร์ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในดิน (หอยทาก กิ้งกือ ตะขาบ และไส้เดือน) และบทบาทในระบบนิเวศเชิงเกษตร ศ. ดร.สมศักดิ์ ปัญหา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. ผลของยาต้านเบาหวานและเอสโตรเจนต่อการเรียนรู้และความจำของสมองในภาวะอ้วนและขาดฮอร์โมนเพศหญิง ศ. ดร. ทพญ.สิริพร ฉัตรทิพากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4. การสังเคราะห์และพิสูจน์เอกลักษณ์ของสารอินทรีย์ชนิดใหม่สำหรับใช้ในอุปกรณ์ออปโตอิเล็กทรอนิกส์ ดร.อมรรัตน์ แท่งทอง และ ศ. ดร.วินิช พรมอารักษ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 5. การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมสำหรับผู้ป่วยขาดน้ำลาย ศ. ดร. ภก.จีรเดช มโนสร้อย และ ศ. ดร. ภญ.อรัญญา มโนสร้อย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่