ก.วิทย์ฯ สวทช. จับมือม.เกียวโต
วิจัยพลังงาน-สวล.ใต้ JASTIP
ก.วิทย์ โดยสวทช. จับมือมหาวิทยาลัยเกียวโต เสริมความเข้มแข็งการวิจัยด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการ Japan – ASEAN Science and Technology Innovation Platform (JASTIP) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (เมษายน 2558 – มีนาคม 2563) ด้านวิจัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม เน้น ใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าชีวมวลเป็นพลังงานและสารเคมีมูลค่าสูง และวิจัยด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและชีวทรัพยากร และด้านการป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติ
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ได้มีความร่วมมือการวิจัยด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยของประเทศไทยมาเป็นเวลานาน เล็งเห็นความร่วมมือที่ผ่านมาที่เป็นไปด้วยดี จึงได้ขอความร่วมมือมาที่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้เป็นหน่วยร่วมและประสานงานวิจัยในระดับอาเซียนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
พร้อมกันนี้มหาวิทยาลัยเกียวโตได้เสนอโครงการ Japan – ASEAN Science and Technology Innovation Platform (JASTIP) ต่อรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านกระทรวงศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Ministry of Education, Cultures, Sports, Science and Technology: MEXT) โดยหน่วยงาน Japan Science and Technology Agency (JST) ประเทศญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายไปสู่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ และส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนสนับสนุน (เป็นโครงการเดียวที่ได้รับคัดเลือก จากทั้งหมดที่เสนอรวม 18 โครงการ) โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (เมษายน 2558 – มีนาคม 2563)
โดยภายใต้โครงการนี้ นอกจากจะเน้นงานวิจัยร่วมด้าน Energy and Environment ที่มี สวทช. เป็นหน่วยงานหลักแล้ว ยังมีการวิจัยด้าน Biological Resource and Biodiversity Research ที่ประสานโดย Lembaga Iimu Pengetahuan Indonesia (LIPI) ประเทศอินโดนีเซีย และด้าน Disaster Prevention ที่ประสานโดย Malaysia-Japan International Institute of Technology (MJIIT) ประเทศมาเลเซีย ซึ่งผู้บริหารของหน่วยงานทั้งสอง ได้มาร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ความร่วมมือในการวิจัยด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม จะมีหน่วยประสานงานร่วมตั้งอยู่ที่อาคารกลุ่มนวัตกรรม 1 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ซึ่งในระยะเริ่มต้น จะประกอบด้วยการดำเนินงานของนักวิจัยจากศูนย์วิจัยแห่งชาติ 3 แห่ง คือ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ของประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่นที่นำโดยมหาวิทยาลัยเกียวโต โดยมีแนวคิดในการดำเนินงานเรื่อง “การใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าชีวมวลเป็นพลังงานและสารเคมีมูลค่าสูง” (Biomass to Energy and Chemicals: B2EC)
โดยแบ่งเป็น 3 โครงการ ได้แก่
– โครงการที่ 1 นวัตกรรมการประยุกต์ใช้ชีวมวลสำหรับการสังเคราะห์วัสดุตัวเร่งปฏิกริยาและอุปกรณ์พลังงาน เน้นด้านเคมีและชีวภาพ (Innovations in Biomass Application for Catalytic Material Synthesis and Energy Devices)
– โครงการที่ 2 พัฒนาวัสดุคาร์บอนจากชีวมวลสำหรับการประยุกต์ใช้งานใน energy storage (Development of carbon materials from biomass for energy storage applications)
– โครงการที่ 3 นวัตกรรมในการประยุกต์ใช้ชีวมวลสำหรับการสังเคราะห์วัสดุเร่งปฎิกริยาและอุปกรณ์พลังงาน- เน้นด้านวัสดุนาโน
ภายหลังการเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการและประชุมเชิงปฏิบัติการเริ่มโครงการวิจัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 10.00-17.00น. ที่อาคารศูนย์ประชุม อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รังสิต โดยจะมีผู้เข้าร่วมจากประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น และประเทศต่างๆ ในอาเซียน
ดร. ณรงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือภายใต้โครงการ JASTIP จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนางานวิจัยด้านชีวมวลให้มีการใช้ประโยชน์มากขึ้นและมีมูลค่าสูงขึ้น โดยอาศัยการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้กับประเทศญี่ปุ่นและประชาคมอาเซียน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมบทบาทและใช้ประโยชน์ในประชาคมอาเซียน และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ต้องการใช้การทูตวิทยาศาสตร์เป็นตัวเร่งในการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ