กรมโรงงานฯ ขยายโรงงานยาง
มุ่ง “แก้วิกฤตยางพารายั่งยืน”
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตฯ เร่งขยายโรงงานยางต่อขานรับนโยบายรัฐบาลที่เร่งส่งเสริมให้ใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรยาง โดยกรมโรงงานฯ อนุญาตให้โรงงานที่ขอใบอนุญาตขยายโรงงานแล้วจำนวน 80 โรงงาน ที่ผ่านมาเปิดดำเนินการแล้ว 7 โรงงาน เดือนกุมภาพันธ์เตรียมเปิดอีก 9 โรงงาน คาดใช้วัตถุดิบยางผลิต 33,425 ตัน เตรียมเสนอครม.ตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติมี.ค.นี้ ดันไทย “ฮับ” การผลิตยางล้อ-ยานยนต์-ชิ้นส่วน-ทดสอบ-รับรองมาตรฐานครบวงจร ดึงการลงทุนต่างชาติ
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยางล้อไทยมีมูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมยางล้อทั้งระบบ 80,000 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมยางมีการส่งออกอุตสาหกรรมยางขั้นกลางประมาณ 87 % ส่วนอีก 13 % ใช้ในอุตสาหกรรมยางขั้นปลายภายในประเทศ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมนำยางพาราไปแปรรูปให้มากที่สุดเพื่อแก้ปัญหายางพาราอย่างยั่งยืนทั้งการเพิ่มความต้องการใช้ยาง เพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้นทุกรูปแบบ พร้อมเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมยางล้อยานยนต์ หากสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูปให้หลากหลายมากขึ้นและส่งออกได้ เช่น ยางล้อยานยนต์ จะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศพร้อมเพิ่มมูลค่าสินค้า อีกทั้งยังแก้ไขปัญหาราคายางได้อย่างยั่งยืน และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร
ดร.พสุ กล่าวต่อว่า กรมโรงงานฯ มีการสนับสนุนเกี่ยวกับเรื่องยางพาราพร้อมมีมาตรการที่จะช่วยให้มีการรับซื้อ สต๊อกยางและมีการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยการเร่งรัดขยายโรงงานยางที่มีความพร้อมและขอใบอนุญาตประกอบกิจการได้ในปีนี้ที่ตั้งเป้าไว้จำนวน 80 แห่ง ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังในการรับซื้อยางและเพิ่มปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์ยางมากขึ้น ล่าสุด มีโรงงานยางที่เปิดดำเนินการไปแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา จำนวน 5 โรงงาน (มีปริมาณการใช้น้ำยางสด 1,100 ตันต่อปี ยางก้อนถ้วย 10,000 ตันต่อปี ยางแท่ง 10,010 ตันต่อปี และยางแผ่น 100 ตันต่อปี)
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ได้เปิดดำเนินการไปแล้วอีกจำนวน 2 โรงงาน (ปริมาณการใช้น้ำยางสด 1,565 ตันต่อปี) และเตรียมจะเปิดดำเนินการอีกจำนวน 9 โรงงาน (มีปริมาณการใช้น้ำยางสด 10,650 ตันต่อปี) ซึ่งการขยายโรงงานทั้ง 16 โรงงาน จะมีการใช้วัตถุดิบยางเพื่อการผลิตประมาณ 33,425 ตัน สำหรับอีก 64 โรงงาน ยังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักร ซึ่งในปี2559 นี้หากโรงงานยางมีการขยายและเปิดกิจการครบทั้ง 80 แห่ง จะทำให้มีการใช้ยางดิบ 8.7 แสนตัน
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการโรงงานมีปัญหาติดขัดในการขยายโรงงาน กรมโรงงานฯ มีทีมคณะทำงานติดตามเร่งรัดและให้คำปรึกษาแนะนำโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมยางขั้นกลางและขั้นปลาย จะคอยให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกในการประสานงานในทุกๆ เรื่อง ที่ผู้ประกอบการไม่สามารถแจ้งเริ่มประกอบกิจการได้ โดยทีมคณะทำงานฯ จะช่วยเหลือเพื่อผลักดันให้โรงงานประกอบกิจการได้โดยเร็วขึ้น
ขณะนี้รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งแก้ปัญหายางพาราโดยการเพิ่มความต้องการใช้ยางและสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ เช่น ล้อยาง ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่ายาง ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมยางล้อ โดยรัฐบาลกำลังเร่งส่งเสริมให้สร้างโรงงานผลิตยางล้อที่ทันสมัย และสร้างศูนย์ทดสอบคุณภาพยางล้อให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นว่าการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ยางให้ได้มาตรฐานสากล โดยจะดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ” ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตยางล้อ ยานยนต์และชิ้นส่วน เนื่องจากศูนย์ทดสอบมีศักยภาพด้านการทดสอบแบบครบวงจรและรับรองผลิตภัณฑ์ได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นการดึงดูดให้บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางล้อ ยานยนต์และชิ้นส่วนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย และสร้างแรงจูงใจผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตในไทยอยู่แล้วขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น
และที่สำคัญจะช่วยแก้ไขปัญหายางพารา ส่งผลให้เกิดการใช้วัตถุดิบยางมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางล้อซึ่งมีความต้องการใช้ยางอย่างมาก ทำให้เพิ่มปริมาณการใช้ยางเพื่อนำมาแปรรูปมากขึ้น โดยศูนย์ทดสอบฯ ดังกล่าวจะดำเนินการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 การทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยางล้อประเภทอื่น และการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งศูนย์ทดสอบฯ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเตรียมเสนอเข้าครม. เพื่อขออนุมัติในเดือนมีนาคมนี้ ดร.พสุ กล่าว
ด้าน ดร.เกียรติชัย ลิมปิโชติพงษ์ ประธานกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทโอตานิ กล่าวว่า กลุ่มบริษัทโอตานิ เริ่มต้นอุตสาหกรรมการผลิตยางล้อมากว่า 30 ปี ภายใต้แบรนด์โอตานิ ประกอบด้วย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ยางโอตานิ จำกัดและบริษัท โอตานิ เรเดียล จำกัด บนพื้นที่รวม 400 ไร่ และเงินลงทุนรวม 12,000 ล้านบาท กลุ่มบริษัทโอตานิเริ่มจากการผลิตยางประเภทโครงผ้าใบเฉียง สำหรับรถที่ใช้ในเกษตรกรรม รถบรรทุก รถโดยสาร รถอุตสาหกรรม ยางรถที่ใช้นอกผิวถนน และยางตันรถยก ในปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ผลิตยางรถเกษตรกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ASEAN และส่งยางให้กับโรงประกอบรถชั้นนำ เช่น Volvo, Kubota, Yanmar, สามมิตรมอเตอร์ เป็นต้น ในปี 2553 บริษัทเริ่มดำเนินการผลิตยางเรเดียลสำหรับรถบรรทุก และรถโดยสาร ปัจจุบันกลุ่มบริษัทโอตานิ ใช้ยางธรรมชาติรวมทั้งสิ้น 22,000 ตันต่อปี
ในปี 2559 บริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตทำให้ปริมาณการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็น 36,000 ตันต่อปี นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เพิ่มสายการผลิตยางเรเดียลรถยนต์นั่ง โดยในระยะ 3 ปีแรกหรือ Phase 1 จะเริ่มการผลิตในเดือนกรกฎาคม 2559 และภายในปี 2562 จะมีกำลังการผลิต 6,000,000 เส้นต่อปี มีความต้องการใช้ยางธรรมชาติ 20,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะเริ่มการผลิต Phase 2 ภายในปี 2563 สำหรับกำลังการผลิตอีก 6,000,000 เส้น โดยจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตยางสำหรับรถยนต์นั่งรวม 12,000,000 เส้นต่อปี คาดว่าในปี 2564 บริษัทจะมีความต้องการใช้ยางธรรมชาติกว่า 76,000 ตันต่อปี