คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล โดยภาควิชาจักษุวิทยา จัดงาน “วันต้อหินโลก” วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2559 ณ โถงอาคาร ๑๐๐ ปี เวลา 9.00 – 15.00 น. สมเด็จพระศรีนครินทร์ ชั้น 1 เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ให้ตระหนักถึงโรคต้อหิน อันจะนำไปสู่การป้องกันภาวะตาบอดจากต้อหินได้ ภายในงานมีการตรวจสุขภาพตาเบื้องต้นแก่ผู้มีโอกาสเสี่ยงและผู้สนใจทั่วไป (300 ราย) พร้อมจักษุแพทย์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพตา
“ต้อหิน” เป็นโรคความเสื่อม เกิดจากขั้วประสาทตา ซึ่งมีหน้าที่รับสัญญาณภาพส่งไปยังสมอง ถูกทำลายด้วยความดันลูกตา เซลล์เส้นประสาทที่ตายไปแล้วไม่สามารถทำให้กลับฟื้นคืนมาได้ เป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถรักษาเพื่อหยุดไม่ให้อาการแย่ลงได้ โดยการหยอดตา เลเซอร์ หรือผ่าตัด ต้อหิน จัดเป็นภัยเงียบอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากในระยะแรกจะไม่มีอาการใด ๆ ถ้าไม่ตรวจก็ไม่สามารถรู้ได้ โรคจะค่อยๆ เป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้การมองเห็นแคบลง แต่ตรงกลางยังคงมองเห็นได้ดี ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกผิดปกติใดๆ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจเกิดอาการหนักมากแล้ว อายุยิ่งเยอะ ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น ปัจจุบันประชากรทั่วโลกมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคต้อหินกันมากขึ้น
ต้อหินเป็นสาเหตุทำให้เกิดตาบอด การสูญเสียการมองเห็น นอกจากจะเป็นภาระต่อตนเองแล้ว ยังจะเป็นภาระต่อครอบครัว และสังคมอีกด้วย แต่ถ้าหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกก็จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดตาบอดแบบถาวรได้ ดังนั้นการตรวจตาเป็นประจำทุกปีจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก สำหรับกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่ คนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือมีประวัติครอบครัว พ่อ แม่ พี่น้องสายตรงเป็นต้อหิน คนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดในลูกตา มีอุบัติเหตุทางตา มีสายตาสั้นหรือยาวมาก ๆ มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ เช่น คนไข้โรคพุ่มพวง เป็นต้น
“ต้อหินใช้เวลาตรวจเพียงแค่ 15-60 นาที ก็สามารถรู้ผลได้ ไม่เสียเวลามาก และหากตรวจพบว่าเป็นโรคต้อหิน จำเป็นต้องทำการรักษาและเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์ตลอด เพราะโรคต้อหินจัดเป็นโรคเรื้อรัง เหมือนเบาหวาน ความดัน ไม่ควรหยุดยาเอง”