“เอไอที”เจ๋งกวาดรางวัลวิชาการ
วิทย์-เทคโนฯระดับอุดมศึกษา
สกว.ประเมินคุณภาพผลงนวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2557 พบ การประเมิน 6 กลุ่มสาขาวิชา ทุกสถาบันมีจำนวนสาขาวิชาที่ได้รับคุณภาพระดับดีเยี่ยม ดีมาก และดี เพิ่มขึ้น สะท้อนสถาบันอุดมศึกษาไทยมีคุณภาพการวิจัยสูงขึ้น แม้ยังไม่สามารถแข่งได้ในระดับโลก โดยเอไอทีกวาดรางวัล เป็นสถาบันที่มีจำนวนหน่วยงานได้รับการประเมินในระดับดีเยี่ยมมากที่สุด การประเมินครั้งนี้สกว.มุ่งนำข้อมูลมาใช้วางแนวทางสนับสนุนทุนวิจัย
ศ .ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย เป็นประธานการประชุม “การประกาศผลการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ปี 2557” ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสำรวจและประเมินคุณภาพงานวิจัยเชิงวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย โดยข้อมูลที่ได้ทำให้ทราบถึงระดับความเข้มแข็งและพัฒนาการของการวิจัยของสาขาวิชาต่าง ๆ และสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางสนับสนุนการวิจัยด้านนี้ของ สกว. ต่อไป
การประเมินคุณภาพการวิจัยครั้งนี้ มีจำนวนสาขาวิชาที่ขอรับการประเมินเพิ่มขึ้น โดยมีการประเมินรวมทั้งสิ้น 6 กลุ่มสาขาวิชา ซึ่งเกือบทุกสถาบันมีจำนวนสาขาวิชาที่ได้รับคุณภาพระดับดีเยี่ยม ดีมาก และดี มากขึ้น แสดงว่า สถาบันอุดมศึกษาไทย มีคุณภาพการวิจัยสูงขึ้น “ในสภาพปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัยไทยยังไม่อาจแข่งขันกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้ เช่น ในกลุ่ม 500 มหาวิทยาลัยแรกของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกของ Academic Ranking of World Universities (ARWU) และ Times Higher Ecucation World University (THE WUR) มีเพียงมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุดของประเทศไทย อยู่ในกลุ่ม 500-600 เพียงแห่งเดียว
ทั้งนี้แต่ละสาขาวิชาที่เข้ารับการประเมินฯ ของ สกว. ได้แสดงให้เห็นว่าทุกมหาวิทยาลัยที่เข้ามารับการประเมินยังมีความโดดเด่น แม้แต่สาขาวิชาที่ได้คุณภาพระดับ 1 ก็ยังมีความหวัง เมื่อเปรียบเทียบกับสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย แต่มิได้เข้ามารับการประเมิน ของ สกว. ในครั้งนี้” ศ. ดร.ปรีดาระบุ
ขณะที่ ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)กล่าวถึง “บทบาทของ สกว. ในการประเมินผลงานวิจัยเชิงวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย” ว่า สกว.มุ่งมั่นพัฒนาการวิจัยและระบบการวิจัยของประเทศให้มีคุณภาพทัดเทียมมาตรฐานสากล คุณภาพงานวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการขับเคลื่อนการวิจัยและระบบวิจัยของประเทศ สกว.จึงมุ่งพัฒนาเครื่องมือในการประเมินผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 ของการประเมินผลคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการที่ สกว. ได้ดำเนินการมา
โดยในครั้งนี้เป็นที่น่ายินดีว่ามี 473 หน่วยงาน จาก 28 สถาบันสมัครเข้าร่วมการประเมิน ทั้งนี้แนวทางการสนับสนุนเพื่อยกระดับคุณภาพการวิจัยเชิงวิชาการ หน่วยงานที่ได้รับการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2557 หน่วยงานที่อยู่ในระดับ Rating 5 (TRF Index 4.5 – 5.0) จะได้รับสิทธิสมัครรับทุนพัฒนาศักยภาพการวิจัยเชิงสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ซึ่งจะประกาศเงื่อนไขและเปิดรับข้อเสนอระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน พ.ศ. 2559 ขณะที่ระดับ Rating 1 ถึง 4 (TRF Index 1.0 – 4.4) ได้สิทธิสมัครรางวัลการยกระดับคุณภาพการวิจัยเชิงวิชาการระดับสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะประกาศเงื่อนไขและเปิดรับข้อเสนอระหว่างเดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม พ.ศ. 2559
สำหรับหน่วยงานที่ได้รับเกียรติบัตร Top TRF Index ได้แก่ 1) สถาบันที่มีจำนวนหน่วยงานเข้าร่วมโครงการฯ มากที่สุด มหาวิทยาลัยมหิดล 2) สถาบันที่เข้าร่วมมากที่สุดในกลุ่มสาขาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3) สถาบันที่เข้าร่วมโครงการฯ มากที่สุดในกลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 4) สถาบันที่เข้าร่วมมากที่สุดในกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5) สถาบันที่เข้าร่วมมากที่สุดในกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร และสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 6) สถาบันที่เข้าร่วมมากที่สุดในกลุ่มสาขาวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 7) สถาบันที่เข้าร่วมมากที่สุดในกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล 8) สถาบันที่มีจำนวนหน่วยงานได้รับการประเมินในระดับดีเยี่ยม (TRF Index 5.0) มากที่สุด สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)
สถาบันที่ได้รับการประเมินระดับดีเยี่ยม 1) สาขาวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2) สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย 3) สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย 4) สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 5) สาขาวิชาสหวิทยาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 6) สาขาวิชาเทคโนโลยีพลังงาน สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย 7) สาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 8) สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
9) สาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10) สาขาวิชาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 11) สาขาคณิตศาสตร์และสถิติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 12) สาขาวิชาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล 13) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 14) สาขาวิชาสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 15) สาขาวิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 16) สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 17) สาขาวิชาพรีคลินิก มหาวิทยาลัยมหิดล 18) สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์/สหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“สำหรับการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย สกว.ได้หารือกับ สกอ. ถึงความเป็นไปได้ในการให้ สกอ.สนับสนุนการประเมินผลงานวิจัยร่วมกับ สกว. ซึ่งในปี 2560 จะมีการประเมินครั้งที่ 4 จึงอยากให้ทุกมหาวิทยาลัย ทุกสาขาวิชาเข้าร่วมการประเมินอย่างพร้อมเพรียง” ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวทิ้งท้าย