“ดร.พิเชฐ” ชี้รัสเซียมีความพร้อม
ลงนามร่วมมือด้านวิทย์กับไทย
“ดร.พิเชฐ” เผย รัสเซียพร้อมลงนามร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กับประเทศไทย ถือฤกษ์ช่วง “ประยุทธ” นำผู้ประกอบการไทย 67 บริษัทและรัสเซียจาก 54 บริษัท จับคู่ธุรกิจพฤษภาคมนี้ รวมความร่วมมือระหว่างรัฐบาล สร้างความร่วมมือกับ Skolkovo Innovation Centre โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านธุรกิจสตาร์ทอัพและความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านชีววิทยาศาสตร์ ด้านมาตรวิทยา และเทคโนโลยีอวกาศ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆนี้มีการเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการของคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนระหว่างกัน ในเวทีการพบปะหารือคณะธุรกิจระหว่างดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย ประธานสภาอุตสาหกรรม ประธานสภาหอการค้า ประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในโอกาสดังกล่าว ตนได้ร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนวัตกรรมและโอกาสของความร่วมมือไทย-รัสเซีย ในที่ประชุมโต๊ะกลมไทยนี้ด้วย
โดยเนื้อหาสาระคือการเน้นย้ำเป้าหมายของการเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่รัฐบาลได้จัดทำมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งมีทั้งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับบริษัทเอกชน การจัดโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม อาทิ โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร “ฟู้ดอินโนโพลิส” ระบบคุณภาพและมาตรฐานที่เรียกว่า MSTQ คือมาตรวิทยา การมาตรฐาน การทดสอบในห้องปฏิบัติการและระบบคุณภาพ เพื่ออุตสาหกรรม และที่สำคัญคือการสนับสนุนด้านกำลังคนที่มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมที่มีอยู่จำนวนมากในภาครัฐให้ไปเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคเอกชน หรือโครงการทาเลนท์โมบิลิตี้ เป็นต้น
ดร.พิเชฐ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันการเดินทางเยือนรัสเซียครั้งนี้ยังมีกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและรัสเซียในหลายหลายกลุ่มสินค้า อาทิ อาหาร เครื่องสำอาง สปา สุขภัณฑ์ สินค้าแฟชั่น สินค้าไลฟ์สไตล์ เป็นต้น ด้วยเหตุผลสำคัญที่เราเห็นว่าสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในกลุ่มสมาชิก E7 (จีน รัสเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล เม็กซิโกและตุรกี) ซึ่งเศรษฐกิจโลกกำลังมีการเปลี่ยนถ่ายขั้วอำนาจจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วคือกลุ่ม G7 (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี และแคนาดา) มาสู่ฐานเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีตลาดและทรัพยากรมหาศาล ซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างกลุ่ม E7 นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงการเตรียมความพร้อมการเยือนรัสเซียของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 พร้อมกับการทำกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยจาก 67 บริษัทและรัสเซียจาก 54 บริษัท
“การเดินทางครั้งนี้ได้มีโอกาสเข้าหารือกับนาย Arkady Dvorkovich รองนายกรัฐมนตรีของสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งรับผิดชอบภารกิจด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพลังงาน ณ ทำเนียบรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งได้ยกประเด็นความร่วมมือระหว่างไทยกับรัสเซีย ใน 3 ส่วน ได้แก่ ประการแรก ขอให้รัฐบาลสหพันธรัฐรัสเซียช่วยผลักดันสนับสนุนการจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อจะได้มีการลงนามได้ทันในช่วงการเยือนรัสเซียของนายกรัฐมนตรี โดยฝ่ายไทยและรัสเซียได้เคยมีการหารือร่วมกันกับนาย Dimitry Livanov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์รัสเซียที่กรุงมอสโก เมื่อเดือนตุลาคม 2558 แล้วซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันที่จะให้มีการลงนามความตกลงดังกล่าว
ประการที่สอง ได้แจ้งความประสงค์ที่จะสร้างความร่วมมือกับ Skolkovo Innovation Centre โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านธุรกิจสตาร์ทอัพและประการที่สาม ได้ยืนยันความสนใจที่จะมีความร่วมมือกับสหพันธรัฐรัสเซียทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านชีววิทยาศาสตร์ ด้านมาตรวิทยา และเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าท่านรองนายกรัฐมนตรี Arkady Dvorkovich ยินดีที่จะสนับสนุนการลงนามในเป้าประสงค์ประการแรกในเดือนพฤษภาคม 2559 สำหรับเรื่องที่สองท่านก็เห็นด้วยกับการกระชับความร่วมมือระหว่าง Skolkovo Innovation Centre กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยและในเรื่องสุดท้ายก็แสดงความสนใจที่จะมีความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ พร้อมเสนอให้มีความร่วมมือทางด้านนิวเคลียร์เพื่อสันติ โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย
นับว่าเป็นความสำเร็จของการเจรจาความร่วมมือของทั้งสองประเทศครับ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จากประสบการณ์การพัฒนาประเทศบนฐาน วทน. ที่เข้มแข็งอย่างสหพันธรัสเซีย”