ไทย-สหรัฐร่วมยกระดับวทน.
ด้านพลังงาน-วัคซีน-STEM
ความร่วมมือ ว & ท ไทย-สหรัฐ ผลน่าพอใจเห็นร่วมยกระดับ วทน. สานต่อการพัฒนาพลังงานทางเลือก การพัฒนาวัคซีนและเวชสำอาง เปิดกว้างในกรอบการศึกษาสะเต็ม(STEM)นอกระบบโรงเรียน เล็งดันไทยเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดการศึกษาดังกล่าวในอนุภูมิภาค การฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศของพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำระบบฐานข้อมูลในการทำแบบจำลองการพยากรณ์อากาศที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมผลักดันให้ไทยเป็น Wildlife Health Center ในภูมิภาค
ไทยและสหรัฐอเมริกาพอใจผลการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-สหรัฐ (Thai-U.S. Joint Committee Meeting on Science and Technology – JCM) ภายใต้ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย-สหรัฐอเมริกา (Thai – U.S. Scientific and Technical Cooperation Agreement – STA) ซึ่งได้จัดการประชุมตั้งแต่วันที่ 7 – 8 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมาโดย รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยถึงความก้าวหน้าจากการประชุมหารือของทั้งสองฝ่ายในประเด็นสาขาเจรจาความร่วมมือ 4 ด้าน ดังนี้
ด้านพลังงาน ฝ่ายสหรัฐอเมริกา นำทีมโดย Dr. Boulem Hadjeriou, Oak Ridge National Laboratories และ Dr. Jamie Kern, Department of Energy (DOE) ได้เสนอประเด็น Hydropower เป็นโครงการหลักในการเจรจาโดยอ้างถึงความร่วมมือที่ต้องการสานต่อกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ ในขณะที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) มีความสนใจทางด้านพลังงานชีวมวล พลังงานงานทางเลือก แบตเตอรี่ ทั้งนี้ ฝ่ายไทยโดยผู้แทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ จะเป็นผู้ประสานโครงการด้านพลังน้ำที่สหรัฐฯ เสนอมาเป็นโครงการหลักในการเจรจาต่อไป
ด้านสุขภาพ ฝ่ายสหรัฐฯ นำทีมโดย ผู้แทนจาก Dr. John MacArthur, Centers for Disease Control and Prevention (CDC) และ Col.Robert O’Connell, Armed Forced Research Institute of Medical Sciences (AFRIMS) ซึ่งเสนอประเด็นความร่วมมือในการพัฒนาวัคซีน ซึ่งมีความร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ศลช.) และกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ ยังมีการเสนอประเด็นความร่วมมือในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่ ด้านโภชนเภสัชศาสตร์ ด้านเวชภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอาง และการชะลอความชรา เป็นต้น โดยฝ่ายไทยมี ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ศลช.)หรือTCELS เป็นผู้นำทีมการเจรจา พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และศูนย์นาโนเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ด้านสะเต็มศึกษา (STEM) ฝ่ายสหรัฐฯ นำทีมโดย Dr. Elizabeth “Libby” Lyons, National Science Foundation และ Dr. Geri Richmond, Oregon State University และดำรงตำแหน่ง Science Envoy ได้เสนอประเด็นหลักในการเจรจาแบบเปิดกว้างภายใต้กรอบการศึกษาสะเต็ม โดยเน้นการสนับสนุนไทยในด้านการจัดฝึกอบรมปฏิบัติการและนัยของการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดการศึกษาดังกล่าวในอนุภูมิภาค
ทั้งนี้ฝ่ายไทยได้แสดงความสนใจการศึกษา STEM การพัฒนากำลังคน (STEM Workforce) การเรียนรู้สะเต็มนอกระบบโรงเรียน และการพัฒนาสะเต็มในสาขาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ซึ่งมีนายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นผู้นำการหารือ พร้อมตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี (สวทน.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) นอกจากนี้ ยังมีการหารือในส่วนของโครงการเฉพาะ โดยผู้แทนจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) เข้าร่วมหารือด้วย
ด้านน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ ฝ่ายสหรัฐฯ นำโดย Dr. Matthew Andersen และ Dr. John French, U.S. Geological Survey โดยได้เสนอโครงการ Lower Mekong Initiative (LMI) ซึ่งมีนัยสำคัญในการจะเกิดโครงการที่ขยายและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในกรอบการหารือได้พูดถึงการสนับสนุนการวางแผนบริหารจัดการ การจัดทำระบบฐานข้อมูลในการทำแบบจำลองการพยากรณ์อากาศที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเน้นการพัฒนาความร่วมมือใน 2 ด้าน ได้แก่ การจัดการและการพัฒนาระบบฐานข้อมูลชายฝั่ง และการพัฒนาความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศของพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยฝ่ายไทย ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศและทรัพยากรน้ำ (สสนก.) เป็นผู้แทนหลักในการเจรจา
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้แทนจาก USGS ของสหรัฐฯ ซึ่งมีโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แจ้งความประสงค์ขอเจรจาความร่วมมือกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง Wildlife Health Center ซึ่งสำนักงาน ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ประสานเชิญ รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร หัวหน้าโครงการฝ่ายไทย เข้าร่วมหารือกับฝ่ายสหรัฐฯ ในครั้งนี้ โดยคาดหวังให้ได้ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมตรงตามความต้องการของทั้งสองฝ่าย และ รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล