สดร.เก็บภาพสุริยุปราคาเต็มดวง
เหนือท้องฟ้าอินโดฯฝากคนไทย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ วังสุลต่านเตอร์นาเต เมืองเตอร์นาเต สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำทีม สดร. ตั้งกล้องโทรทรรศน์และอุปกรณ์สังเกตการณ์ถวายทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง พร้อมเก็บภาพฝากคนไทย นักดาราศาสตร์และนักท่องเที่ยวทั่วสารทิศแห่ชม แม้จะมีเมฆมาบดบังบ้างแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรค ชมได้ตลอดทั้งช่วงปรากฏการณ์ตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดอย่างสมบูรณ์
ศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย วัฒนานิกร ประธานคณะกรรมการบริหาร สดร./ รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร./ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. นำทีมเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เก็บข้อมูลและศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่อินโดนีเซีย ได้ตั้งจุดสังเกตการณ์ บริเวณด้านหน้าวังสุลต่านเตอร์นาเต ตั้งกล้องโทรทรรศน์ จำนวน 5 ตัว อุปกรณ์สังเกตการณ์ทางอ้อมชนิดต่างๆ พร้อมอุปกรณ์บันทึกสภาพภูมิอากาศ อุปกรณ์วัดความสว่างท้องฟ้า เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับถ่ายทอดสดผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงด้วย
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า สุริยุปราคาเต็มดวง ในวันที่ 9 มีนาคม 2559 เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 52/73 ในชุดซารอสที่ 130 แม้ว่าแนวคราสเต็มดวงส่วนใหญ่จะพาดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ในช่วงต้นของคราส เงามืดของดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ผ่านแผ่นดินที่เป็นเกาะใหญ่ๆ ของประเทศอินโดนีเซียหลายเกาะด้วยกัน อาทิ เกาะสุมาตรา กาลิมันตัน สุลาเวสี และหมู่เกาะโมลุกกะ
ลำดับการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ในวันที่ 9 มีนาคม 2559 ตามเวลาท้องถิ่น ณ เมืองเตอร์นาเต สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เริ่มต้นคราสบางส่วน เมื่อขอบดวงจันทร์แตะขอบดวงอาทิตย์ในเวลาประมาณ 08:36 น. เข้าสู่ช่วงคราสเต็มดวง เมื่อดวงจันทร์เริ่มบดบังดวงอาทิตย์ทั้งดวง ในเวลาประมาณ 09:51 น. และเข้าสู่ช่วงกลางคราส ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์มากที่สุดเวลาประมาณ 09:53 น. จากนั้นสิ้นสุดช่วงคราสเต็มดวง ดวงจันทร์เริ่มเคลื่อนออกจากดวงอาทิตย์ เมื่อเวลาประมาณ 09.54 น. และสิ้นสุดคราสบางส่วน เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนออกจากดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง ในเวลาประมาณ 11.20 น. เป็นสัมผัสสุดท้ายและสิ้นสุดปรากฏการณ์สุริยุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้เกิดคราสหรือดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังนานที่สุดกว่า 4 นาที เวลาที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงกินเวลานาน 2 นาที 41 วินาที สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 21 สิงหาคม 2560 แนวคราสเต็มดวงพาดผ่านประเทศสหรัฐอเมริกา