ก.วิทย์จับมือ11หน่วยงานรัฐ-เอกชน
จัดงาน Startup Thailand 2016
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จับมือ 11 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดงาน Startup Thailand 2016 ขึ้น ระหว่างวันที่ 28 เมษายน 2559 – 1 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นการระดมผู้ประกอบการ Startup ของประเทศให้มารวมตัวกัน เป็นเวทีแสดงความสามารถเพื่อเติบโต นำสู่การผลิตและบริการใหม่ๆ สร้าง New Ecomic Platform ให้กับประเทศ ระบุรัฐเดินหน้าสร้างสิ่งแวดล้อมหนุนสตาร์ทอัพ ทั้งผ่านการร่วมทุน (Venture Capital ) กองทุนเสริมสร้างขีดความสามารถ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงฯ มีนโยบายที่จะตอบโจทย์รัฐบาลด้วยการจับมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 11 หน่วยงาน ประกอบด้วยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เครือข่ายประชารัฐ และประชาคมสตาร์ทอัพไทย สนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ โดยการจัดงาน Startup Thailand 2016 ขึ้น ระหว่างวันที่ 28 เมษายน 2559 – 1 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ มีเป้าหมายเพื่อแสดงจุดยืนและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ด้วยการส่งเสริม สนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ Startup รุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการขยายธุรกิจและสร้างตลาดใหม่ (Scalable) สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด (High growth) ด้วยการระดมผู้ประกอบการ Startup ของประเทศให้มารวมตัวกัน เปิดโอกาสให้พบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ
รวมถึงกลุ่มนักลงทุนที่พร้อมให้การสนับสนุนทางการเงิน ตลอดจนสร้างความตระหนักและความตื่นตัวในวงกว้างในการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเฉพาะ นักเรียน นักศึกษา นักเรียนอาชีวะ ผู้ที่จบการศึกษาและทำงานมาระยะหนึ่ง เกษตรกรยุคใหม่ ผู้บริหารองค์กร บริษัท หน่วยงานภาครัฐต่างๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่มีการบ่มเพาะ ให้บริการหรือมีกิจกรรมส่งเสริม Startup และผู้ประกอบการ SMEs อันจะช่วยผลักดันให้เกิดสังคมแห่งผู้ประกอบการขึ้นในประเทศไทยและส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ขณะเดียวกันก็มองตำแหน่งของไทยว่าจะก้าวสู่การเป็น “ฮับ” สตาร์ทอัพของอาเซียนได้หรือไม่
งานนี้จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Startup Unite” ซึ่งเป็นการรวบรวม Startup และหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับ Startup ทุกภาคส่วนเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยเน้นการใช้สินค้าและบริการของ Startup ในการจัดงาน อาทิ การใช้แอปพลิเคชันของ Startup นอกจากนี้ยังมีสตาร์ทอัพจากต่างประเทศมาร่วมด้วย ซึ่งจะมีประมาณ 10 ชาติ อีกทั้งมีการเสวนาและปาฐกถาพิเศษจากทั้งในและต่างประเทศ เช่น “วิสัยทัศน์และพลังสร้างชาติด้วย Startup Thailand” โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “การขับเคลื่อน Startup Thailand: ฐานเศรษฐกิจใหม่ของไทย” โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ การเสวนา “โอกาสของการเติบโตของ Startup ไทยในเวทีโลก” เป็นต้น
“ปีนี้ถือเป็นปีของสตาร์ทอัพก็เป็นได้ ซึ่งในไทยยังไม่มีสถิติแน่นอนว่ามีจำนวนเท่าใด ประมาณว่ามี 1,000-2,000 ราย แต่อยากจะสร้างให้มีจำนวนมาก ๆ ทำให้ประสบความสำเร็จมาก ๆ และงานนี้เหมือนมีเวทีให้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์แสดงความสามารถเพื่อเติบโตได้ นำสู่ผลิตภัณฑ์และบริการ อยากให้มองตรงนี้เป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economic Platform ซึ่งรัฐต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสนองคนที่มีแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดเป็นนักธุรกิจได้ เช่น มหาวิทยาลัยจะทำอย่างไรเพื่อช่วยนักศึกษาหรือลูกศิษย์เข้าสู่ผู้ประกอบการใหม่ รวมถึงนักเรียนสายอาชีวศึกษาที่ไม่จกัดที่หลักสูตรอาชีวะเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นโอกาสของการพัฒนาการศึกษาไปพร้อม ๆ กัน งานนี้จะพยายามดึงนักเรียนอาชีวะมา รวมถึงนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ”
ดร.พิเชฐกล่าวต่อว่า “เวลานี้รัฐกำลังสร้างระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพ เช่น การสนับสนุนด้านการเงินแบบร่วมทุนหรือ Venture Capital ที่ให้เอกชนที่มีเงินรับความเสี่ยงได้เข้ามาลงทุน ภาคเอกชนก็มีการตั้งกองทุนรูปแบบนี้แต่มีไม่มาก ภาครัฐพยายามนำกองทุนบางส่วนมาสนับสนุน ซึ่งเวลานี้ดำเนินการผ่าน 3 ธนาคารได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทยและธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) แห่งละ 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีกองทุนเสริมสร้างขีดความสามารถวงเงิน 10,000 ล้านบาท นอกเหนือจากนี้ยังมีกองทุนของเอกชนและธนาคารพาณิชย์อื่น ๆที่มาช่วย อีกทั้งรัฐบาลยังกำลังพิจารณามาตรการด้านภาษีซึ่งอาจเป็นการให้พื้นที่หรือการลดหย่อนภาษี
นอกจากนี้ยังกำลังพิจารณาพื้นที่ในการเปิดเป็นย่านสตาร์ทอัพ (Startup District) เพื่อให้เป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในไทย โดยเบื้องต้นพิจารณาในกรุงเทพมหานคร ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกมัย หรือย่านทองหล่อ พื้นที่หัวเมืองทั้ง จ.เชียงใหม่ ถนนนิมมานเหมินท์ จ.ขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ จ.สงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์”
ด้านนายกานต์ ตระกูลฮุน หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานร่วมประชารัฐ ด้านการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ กล่าวว่า การส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ดีคือ มีผู้ที่เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาแนะนำและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่กำลังเริ่มทำธุรกิจ หลายประเทศทั่วโลกก็ให้ความสำคัญกับธุรกิจสตาร์ทอัพ ประเทศไทยเองก็พร้อมที่จะเดินหน้าในเรื่องนี้ และมีคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์อีกเป็นจำนวนมากที่รอการสนับสนุน ซึ่งส่วนตัวมองว่า สตาร์ทอัพไทยขณะนี้น่าจะสูงกว่าตัวเลขของรัฐมนตรีวิทย์ฯ
ทั้งนี้ได้ยกย่อง สิงคโปร์ เป็นแบบอย่างที่ดีมีการจัดระบบสตาร์ทอัพอย่างดี ทำให้ธุรกิจเดินไปได้ เกิดการจ้างงานที่ดี โดยสตาร์ทอัพของสิงคโปร์ส่วนใหญ่ ซึ่งมองว่าเป็นธุรกิิจที่ดีสุด และก๊อปปี้ได้ยาก ส่วนโมเดลที่ดีอื่น ๆ ได้แก่ ที่เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์และอิสราเอล โดยเฉพาะอิสราเอลเก่งมากในด้านไอที เทเลคอม อาหารและเกษตร เช่น สามารถควบคุมมะเขือเทศออกนอกฤดูกาลที่ประเทศอื่นไม่มีได้ ส่วนธุรกิจที่น่าสนับสนุนได้แก่ ธุรกิจภายใต้ Digital Economy ด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ชีววิทยา สุขภาพ และสังคมสูงวัย พร้อมเชิญชวนให้ผู้ประกอบการใหม่ ๆและผู้สนใจทำธุรกิจมางานนี้ จะได้พบสิ่งดี ๆ อย่างแน่นอน
สำหรับภายในงานนอกจากเวทีปาฐกถาให้ความรู้แล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานจาก Startup หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคการเงิน/การธนาคาร มหาวิทยาลัย International showcases และนิทรรศการ Future of industries ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ และเกิดแรงบันดาลใจสร้างธุรกิจให้ก้าวหน้าและสร้างรายได้ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม