วท.แจงสารไพโรเจนไม่ติดไฟ
ใช้ดับไฟสูดนานหมดสติ-ตาย
รองโฆษกกระทรวงวิทย์ระบุสารดับเพลิง (แก๊สไพโรเจน)ไม่ไวไฟและมีประสิทธิภาพสูง ใช้ในปริมาณ 1 ขีดหรือ 100 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับปริมาณอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตรที่หนัก 1.3 กิโลกรัม จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ก็เพียงพอต่อการดับไฟ แต่แม้จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีสารประกอบของแก๊สเรือนกระจกพวกคลอรีนหรือโบรมีน จึงไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนของโลก ไม่เกิดอันตรายเมื่อสัมผัสโดยตรงกับร่างกายคน แต่ผู้ผลิตแนะว่าไม่ควรอยู่ในพื้นที่เกิน 5 นาที เพราะไม่มีออกซิเจนที่ใช้หายใจ
นายวรวรงค์ รักเรืองเดช รองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงเหตุเกิดกลุ่มควันดำในอาคารเอสซีบีพาร์ค เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เมื่อกลางดึงวันที่ 13 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยมีการคาดการณ์สาเหตุว่าเกิดจากมีการกระตุ้นให้สารดับเพลิง (แก๊สไพโรเจน) จนทำให้เกิดเหตุอันน่าเศร้าสลดขึ้น ว่า โดยตัวของแก๊สไฟโรเจนไม่มีคุณสมบัติติดไฟ แต่เป็นสารดับเพลิงทางการค้าแบบหนึ่งที่พัฒนามาจากเชื้อเพลิงที่ใช้ในจรวด ถูกบรรจุอยู่ในกระบอกที่ไร้ความดันในรูปของวัตถุที่เป็นของแข็ง เมื่อถูกกระตุ้นให้ทำงานโดยสวิตช์ไฟฟ้าหรือความร้อนที่กระบอกมากกว่า 500 องศาเซลเซียส จะกลายเป็นละอองของเหลวพุ่งออกมา ในรูปของสารอนุมูลอิสระของธาตุโพแทสเซียมและแก๊สเฉื่อยจำพวกไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ซึ่งไม่ติดไฟ แต่จะทำหน้าที่ดูดซับความร้อนและจับตัวกับอนุมูลอิสระของไฮโดรเจน ออกซิเจนและไฮดรอกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ ทำให้กระบวนการติดไฟขาดความต่อเนื่อง จนสามารถดับไฟได้ในที่สุด
รองโฆษก วท. กล่าวด้วยว่า โดยปกติสารดับเพลิงดังกล่าวจะถูกใช้ในปริมาณ 1 ขีดหรือ 100 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับปริมาณอากาศใน 1 ลูกบาศก์เมตรที่หนัก 1.3กิโลกรัม จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ก็เพียงพอต่อการดับไฟได้ สารประเภทนี้ไม่ไวไฟและมีประสิทธิภาพสูง จึงมักใช้แทนที่ระบบสปริงเกอร์ที่ใช้น้ำดับไฟ เพื่อป้องกันพื้นที่ที่อาจทำให้เกิดไฟช็อต เช่น ห้องเซิร์ฟเวอร์ระบบคอมพิวเตอร์ หรือบริเวณที่มีเชื้อเพลิงเช่น สารเคมี กระดาษในห้องเก็บเอกสาร ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดที่ไม่มีคนอยู่เท่านั้น สารดับเพลิงประเภทนี้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เอเชียและแอฟริกา เพราะเป็นสารที่ใช้ได้ผลในปริมาณที่น้อยกว่าสารตัวอื่นๆ เช่น สารฮาลอน 1301 และ เอฟเอ็ม-200ได้หลายเท่าตัว
“ถึงแม้สารนี้จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีสารประกอบของแก๊สเรือนกระจกพวกคลอรีนหรือโบรมีน จึงไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนของโลกได้ และผู้ผลิตได้ให้ข้อมูลว่าไม่เกิดอันตรายเมื่อสัมผัสโดยตรงกับร่างกายคน แต่ก็ได้แนะนำต่อว่าไม่ควรอยู่ในพื้นที่เกิน 5 นาที เพราะละอองของเหลวดังกล่าวไม่มีออกซิเจนที่จำเป็นต่อการหายใจ โดยปกติเซลล์สมองของคนจะเริ่มตายได้หากไม่ได้หายใจเพียง 1 นาที และทวีความรุนแรงถึงขั้นเสียหายได้หากไม่ได้หายใจ 3นาที จากนั้นภายใน 10 นาทีสมองจะเสียหายขั้นรุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 15 นาที” นายวรวรงค์ กล่าว