วช.หนุนพัฒนาระบบขนส่งราง
ดันไทยฮับโลจิสติกส์-ค้า-บริการ
วช.ร่วมจัดการประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 2 เรื่อง “ผลิตชิ้นส่วนระบบรางอย่างไรให้ได้มาตรฐาน” ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ มักกะสัน กรุงเทพฯ พร้อมส่งมอบผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบประเมินความปลอดภัยและสภาวะการใช้งานได้ของระบบรางด้วยการตรวจวัดการสั่นสะเทือนสำหรับประยุกต์ใช้งานกับระบบรางในไทย” หนุนพัฒนาวิจัยมุ่งเป้าตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศด้านคมนาคมระบบราง ปูทางไทยสู่ Logistic Hub -ศูนย์กลางการค้าประเทศลุ่มน้ำโขง
นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวในโอกาส ร่วมมือกับโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม, สมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท.), Railway Technical Research Institute (RTRI) ประเทศญี่ปุ่น จัดการประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 2 เรื่อง “ผลิตชิ้นส่วนระบบรางอย่างไรให้ได้มาตรฐาน” ระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม 2559 ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ มักกะสัน กรุงเทพฯว่า วช.ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัยระบบรางผ่านเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ในการบริหารงานแผนงานวิจัยมุ่งเป้าตอบสนองต่อความต้องการในการพัฒนาประเทศด้านการคมนาคมระบบราง เพื่อนำผลงานวิจัยส่งมอบสู่หน่วยงานผู้รับประโยชน์ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศไทยในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการบริหารด้านคมนาคมขนส่ง
นอกจากนี้ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2556 -2560) ยังได้กำหนดให้ตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยมีบทบาทเป็นศูนย์กลางธุรกรรมการค้าและบริการของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและเป็นประตูการค้าสู่ตลาดเอเชีย รวมถึงการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ (Logistic Hub) และกำหนดภารกิจหลักเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ คือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทยในโซ่อุปทาน และยกระดับประสิทธิภาพระบบอำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาปัจจัยสนับสนุน ซึ่งมีองค์ประกอบหลายๆภาคส่วนดังนั้นอุตสาหกรรมระบบรางของไทยควรที่จะมีการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าไปมีส่วนในการในพัฒนาโครงการต่างๆ ของประเทศ
นางสาวสุกัญญากล่าวต่อว่า จากการจัดงานการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “งานวิจัยระบบรางมุ่งเป้าเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ ครั้งที่ 1” เมื่อวันที่ 5 – 6 มี.ค. 2558 ที่ผ่านมา วช. ได้ส่งมอบงานผลการวิจัยแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหน่วยงานผู้รับประโยชน์ประสบความสำเร็จด้วยดีได้แก่ งานวิจัยระบบการจำลองการขับรถไฟและชุดทดสอบการทำงานของหัวรถจักร Alstom หรือเทรน ไดรฟ์เวอร์ ซิมมูเลเตอร์ ( TRAINDRIVING SIMULATOR ) และได้มีการดำเนินงานต่อเนื่องในปี 2559 โดยจัดการประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 2 เรื่อง “ผลิตชิ้นส่วนระบบรางอย่างไรให้ได้มาตรฐาน” ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนระบบราง ให้เกิดความมั่นคง และยั่งยืนของระบบขนส่งทางรางของประเทศ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต
การจัดสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้ วช. ได้ส่งมอบผลงานวิจัยแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยเรื่อง “การพัฒนาระบบประเมินความปลอดภัยและสภาวะการใช้งานได้ของระบบรางด้วยการตรวจวัดการสั่นสะเทือนสำหรับประยุกต์ใช้งานกับระบบรางในไทย” พัฒนาโดยทีมงานของ ดร. รัฐภูมิ ปริชาติปรีชา มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการยกระดับการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอุปกรณ์ระบบรางในประเทศ โดยในการสัมมนาจะมีการบรรยายขีดความสามารถและการพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางของภาคอุตสาหกรรม การเสวนาเรื่อง “ความท้าทายต่อการพัฒนามาตรฐานของโครงการรถไฟฟ้าในประเทศไทย” และข้อเสนอแนะแนวทางพัฒนามาตฐานระบบรางของประเทศไทย รวมถึงนิทรรศการเกี่ยวกับระบบราง