สจล.ลงพื้นที่พบปะชุมชน-ผู้นำ
ลุยงานพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา
คณะทำงานโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chaopraya For All) ลงพื้นที่พบปะชุมชนเขตบางซื่อและเขตดุสิต ชี้แจงแนวทางและการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงนำร่องระยะทางรวมสองฝั่ง 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สำรวจลักษณะทางกายภาพของพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และนำข้อมูลมาวิเคราะห์และร่วมออกแบบกับชุมชนต่อไป ทั้งการพัฒนาพื้นที่ การเยียวยากรณีที่ประชาชนต้องย้ายที่อยู่
ทีมการมีส่วนร่วม โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chaophraya For All) โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ลงพื้นที่เขตบางซื่อเพื่อสำรวจลักษณะทางกายภาพ รับฟังปัญหาและความต้องการของชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ชุมชนเชิงสะพานพิบูล (ฝั่งซ้าย) ชุมชนวัดโพ ชุมชนวัดสร้อยทองและชุมชนราชทรัพย์ ต่างแสดงป้ายสรุปข้อคิดเห็น จากการจัดประชุม Focus groups รับฟังความคิดจากชุมชน เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์และออกแบบการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงนำร่อง ระยะทางรวมสองฝั่ง 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นลักษณะทางเดินเลียบแม่น้ำ เชื่อมต่อพื้นที่สีเขียว นันทนาการ วัฒนธรรมและระบบขนส่งสาธารณะ
สภาพแวดล้อมของทุกชุมชนมีการสัญจรทางรถและทางเรือที่เข้าถึงลำบาก มีเพียงทางเล็กๆ สำหรับเดินหรือรถจักรยานยนต์เท่านั้น สำหรับบ้านใดที่มีรถยนต์ต้องจอดรถไว้นอกชุมชนซึ่งต้องเสียค่าเช่ารายเดือน ส่วนพื้นที่ติดริมน้ำนั้นมีเขื่อนกั้นสูงจนบดบังชั้นแรกของบ้าน ซึ้งบังทิศทางลมและปิดกั้นการมองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งยังมีน้ำรั่วซึมจากเขื่อนเข้ามาท่วมขังใต้ถุนบ้านจนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงจำนวนมาก ด้านวิถีชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายและทำงานนอกบ้าน ส่วนรอบๆ ชุมชนมีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์หลายแห่ง เช่น ต้นโพซึ่งเป็นที่มาของชื่อชุมชน สถานีตำรวจบางโพซึ่งเป็นเรือนปั้นหยาอายุเกือบ 100 ปี ซากสิ่งปลูกสร้างที่ถูกคลุมด้วยรากไทรบริเวณวัดญวน เป็นต้น
ดังนั้นสิ่งที่ชุมชนต้องการคือ การระบายน้ำออกจากชุมชนเพื่อกำจัดน้ำเน่าเสียและปัญหายุงชุกชุม รวมถึงต้องการให้ลดความสูงของเขื่อนลงเพื่อเปิดทางรับลมและเปิดมุมมองให้ชุมชนเห็นแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังต้องการพื้นที่สาธารณะด้วย เพราะปัจจุบันไม่มีที่ออกกำลังกายและพื้นที่ว่างสำหรับทำกิจกรรมของเยาวชน ทั้งนี้ที่ดินส่วนใหญ่ชุมชนเช่าเอกชนหรือวัดอาศัยอยู่ จึงอาจเป็นเรื่องยากที่จะพัฒนาพื้นที่ในชุมชนเป็นที่สาธารณะ
ด้านดร.กมล เกียรติเรืองกมลา รองผู้จัดการ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chaopraya For All) ที่ปรึกษาการสำรวจออกแบบและจัดทำแผนแม่บท ประชุมพบปะผู้นำชุมชนเขตดุสิตรวม 8 ชุมชน พร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญการมีส่วนร่วม ณ สำนักงานเขตดุสิต เพื่อชี้แจงแนวทางและการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมงานลงพื้นที่สำรวจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และนำข้อมูลมาวิเคราะห์และร่วมออกแบบกับชุมชนต่อไป
เบื้องต้นชุมชนในเขตดุสิตมีบ้านเรือนที่รุกล้ำน้ำจำนวนมาก ซึ่งเดิมกว่า 100 ปีที่แล้วชาวเรือซึ่งอยู่เรือนแพได้ขยายเป็นชุมชนที่ปลูกบ้านในลำน้ำอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อมีโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดขึ้นชุมชนจึงกังวลใจเรื่องการย้ายที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตามทางคณะทำงานได้ชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า รัฐบาลจะชดเชยเยียวยาและได้ประสานงานกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และการเคหะแห่งชาติเพื่อช่วยเหลือต่อไป