เล็งใช้พ.ร.บ.โรงงานปรับใหม่60
หนุนจัดการโรงงานรับขยายตัว
กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าแก้ไขพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ตามแผนการเสนอปรับแก้ไขกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รองรับการลงทุนของผู้ประกอบการและการขยายฐานเศรษฐกิจเมื่อเข้าสู่ AEC โดยเนื้อหา พรบ. ฉบับใหม่มีสาระสำคัญ รวมความรวดเร็วในขั้นตอนอนุมัติอนุญาตใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) เพียง 15 วันและคุมเข้มโรงงานด้านรักษาสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากลเพิ่ม ระบุ พ.ร.บ.ฉบับเก่าใช้งานมานาน เปิดรับฟังความเห็นในมี.ค. เสนอครม.ในเม.ย.และคาดมีผลบังคับใช้ต้นปี 60
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายด้านอุตสาหกรรมกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ซึ่งการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมย่อมต้องอาศัยความรวดเร็วในการดำเนินการ อีกทั้งต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการควบคุมดูแลอย่างรัดกุม จากสถิติการลงทุนประกอบกิจการใหม่และขยายโรงงานสูงถึง 9,496 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว 14.45% เนื่องด้วยการลงทุนและการขยายโรงงานที่เพิ่มขึ้น ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 และเสนอเป็นแผนร่างกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยกำหนดแก้ไขหลายประเด็นซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นชอบในการปรับปรุงแก้ไข และได้สั่งการเร่งรัดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการแก้ไขร่างกฎหมายนี้ให้แล้วเสร็จพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการปรับแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ภายในเดือนมีนาคม เพื่อที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำความเห็นของทุกภาคส่วนมาประกอบการพิจารณาและแก้ไขก่อนเตรียมเสนอเข้า ครม. ในเดือนเมษายนนี้ คาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้าจะมีผลบังคับใช้อย่างแน่นอน
ด้าน นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานฯ สาระสำคัญที่มีการแก้ไขคือ การปรับคำนิยามโรงงานใหม่ การปรับปรุงหลักการการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายโรงงานใหม่ การปรับปรุงแก้ไขขนาดจำพวกของโรงงาน การเพิ่มประเภทการประกอบกิจการโรงงานให้สอดคล้องกับเครื่องจักรเทคโนโลยีการผลิต นอกจากนี้ มีการเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มความชัดเจนในหน้าที่ความรับผิดชอบที่โรงงานมีต่อบุคคล พืช ทรัพย์ สิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการแก้กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละทำเลที่ตั้ง ตลอดจน เพื่อรองรับการขยายตัว โดยจากข้อมูลปี พ.ศ. 2559 สถิติยื่นขออนุญาตประกอบกิจการใหม่ จำนวน 618 โรง คิดเป็นเงินทุน 42,618 ล้านบาท และการขออนุญาตขยายกิจการ 131 โรงงาน ทุน 32,590 ล้านบาท
ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า รายละเอียดของ พรบ. ฉบับใหม่ที่เตรียมนำเสนอนั้นประกอบไปด้วยสาระสำคัญ ดังนี้
1. หมวดว่าด้วยคำนิยาม
– ปรับแก้ไขความหมายของคำว่า “โรงงาน” ใหม่ จากเดิม “โรงงาน” คิดที่ 5 แรงม้าขึ้นไปหรือคนงาน 7 คนขึ้นไป เป็น“โรงงาน” คิดที่ 25 แรงม้าขึ้นไปหรือคนงาน 25 คนขึ้นไป เพื่อให้โรงงานขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานประเภทให้บริการในชุมชนสามารถดำเนินการได้โดยง่าย ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ อปท.
– ปรับแก้ไขความหมายของคำว่า “ตั้งโรงงาน” ใหม่ควบคุมเฉพาะการนำเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานมาติดตั้งในอาคาร สถานที่หรือยานพาหนะที่จะประกอบกิจการเท่านั้น แต่จะไม่ควบคุมการก่อสร้างอาคาร เพื่อให้สามารถก่อสร้างได้ในระหว่างยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้
2. หมวดการประกอบกิจการโรงงาน/อนุญาต
– ถ้าทำเลที่ตั้งโรงงานไม่ขัดต่อกฎหมายให้ออกใบอนุญาตให้ผู้ขอทันที เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารอื่นที่ประกอบคำขอทีหลัง เมื่อโรงงานหรือเครื่องจักรและระบบบำบัดมลพิษถูกต้องครบถ้วนตามกฎกระทรวงแล้วจึงจะอนุญาตให้เปิดประกอบกิจการได้
– เนื่องจาก พ.ร.บ.เดิมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เสมือนไม่ให้มีการประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ในกรณีย้ายโรงงาน จึงกำหนดให้การย้ายโรงงานให้ถือว่าใบอนุญาตเดิมหมดอายุในวันที่เริ่มประกอบกิจการโรงงานตามใบอนุญาตใหม่ (มาตรา14)
– เพื่อส่งเสริมให้ประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่องและสามารถต่อยอดธุรกิจการผลิตออกไปโดยไม่จำกัดเฉพาะผลิตภัณฑ์เดิมเท่านั้นจึงให้สามารถเพิ่มประเภทอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องจักรได้ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งให้สามารถเพิ่มพื้นที่ของโรงงานออกไปได้
– เพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการในการขออนุญาตขยายโรงงานเดิมโรงงานขนาดใหญ่เพิ่มเครื่องจักร 50 แรงม้าก็ต้องขออนุญาตแล้ว จึงได้กำหนดการขยายตามสัดส่วนของเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้นใหม่เป็นแบบขั้นบันได เช่น (1) เครื่องจักรเดิมมีกำลังไม่เกิน 100 แรงม้า เพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป (2) เครื่องจักรเดิมมีกำลังไม่เกิน 500 แรงม้า เพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 20 ขึ้นไป และต้องเพิ่มไม่น้อยกว่า 50 แรงม้า เป็นต้น ฯลฯ
– เพื่อส่งเสริมให้มีประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่องกรณีขอรับโอน เช่าโรงงาน ซื้อโรงงาน ที่ดำเนินการไม่ทันภายใน 7 วัน ตามกฎหมายให้มีการขยายเวลาเป็น 15 วัน
3. หมวดบทกำหนดโทษ
– เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงกำหนดโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับในกรณีที่ทำผิดเกี่ยวกับการควบคุมมลพิษหรือสิ่งแวดล้อมจากเดิมที่มีเพียงโทษปรับ เนื่องจากโรงงานเข้าสู่ระบบการควบคุมตามกฎหมายใหม่นี้แล้ว จะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น เมื่อประกอบกิจการส่งผลกระทบต่อบุคคล พืช ทรัพย์ สิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐานเรื่องการระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงาน มาตรฐานเรื่องเสียงรบกวนจากการประกอบกิจการ โรงงาน มาตรฐานอากาศที่ระบายออกจากโรงงานและควบคุมวิธีการนำกากอุตสาหกรรมออกไปบำบัด กำจัด ก็ต้องมีโทษมากขึ้น
– กรณีที่ผู้รับใบอนุญาตขยายเริ่มประกอบกิจการส่วนขยายโดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ ไม่มีบทบัญญัติกำหนดโทษไว้โดยเฉพาะจึงไม่สามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้ ซึ่งจะเป็นช่องว่างให้ผู้รับใบอนุญาตไม่สนใจที่จะแจ้งเริ่มประกอบกิจการส่วนขยาย ดังนั้นจึงต้องบัญญัติกรณีดังกล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ด้วย
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่นี้ อยู่ระหว่างเปิดให้โอกาสผู้ประกอบการและประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ www2.diw.go.th/legal/index.asp และโทรสาร 02 202 3997 ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 หลังจากนั้นจะนำข้อคิดเห็นมาประกอบการพิจารณาเสนอคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อพิจารณาก่อนนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ดร.พสุ กล่าวสรุป
สำหรับประชาชนหรือผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักกฎหมาย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4214 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรืออีเมล์pr@diw.mail.go.th