สมาคมภัตตาคารไทยผนึกมหิดล
ดึงร้านอาหารทั้งระบบสู่ออนไลน์
สมาคมภัตตาคารไทย โดยการสนับสนุนของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเปิด “ยุทธศาสตร์อาหารไทย อาหารโลก” มุ่งผลักดันอุตสาหกรรมอาหารไทยทั้งระบบรองรับตลาดอาหารที่กำลังโตในไทยด้วยมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี พร้อมผนึกมหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาระบบออนไลน์ ดึงร้านอาหารที่มีอยู่ประมาณ 4 แสนรายทั่วประเทศเข้าร่วม ส่งเสริมอาหารไทยให้สามารถแข่งขันได้รับ AEC พร้อมจัด “งาน Network Is Power Matching day คู่หูดี มีแต่รุ่ง ครั้งที่3” รวมเครือข่ายร้านอาหาร ผู้ผลิตวัตถุดิบ-สินค้า เกษตรกร ครั้งแรกในไทย เสาร์ที่ 26 มี.ค.2559 สโมสรรัฐสภา
ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า สมาพันธ์ SME ไทย เป็นศูนย์รวมขององค์กรการค้าและองค์กรวิชาชีพกว่า 130 องค์กร มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และสร้างสรรค์โอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการSMEs ” ในวันที่ 13 มกราคม 2559 สมาพันธ์ฯได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ 21 เครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้าง “สัมมาชีพเต็มพื้นที่ โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สู่เศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืน” ตามแนวทางประชารัฐ โดยมีสมาคมภัตตาคารไทยซึ่งเป็นหนึ่งใน 130 องค์กรของสมาพันธ์ฯ ถือเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญ ในการเชื่อมต่อผลิตผลจากภาคเกษตรกรรมและภาคชุมชน กับภาคเอกชนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการรวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนทางการค้าและรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรและผลิตผลที่มีการแปรรูปอาหาร เพื่อต่อเชื่อมแนวทางการช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากตาม MOU ที่ลงนามไป
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทยกล่าวว่า อาหารโลกในปัจจุบัน “อาหารไทย” ถูกจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ในหลายด้านจากสื่อระดับโลก เช่น CNN, BBC,Lonely Planet และ Thrillist นับจากการมีเมนูยอดนิยม อุดมด้วยสมุนไพรและเครื่องเทศสร้างรถชาติซับซ้อนและเป็นประโยชน์ เมนูเด่น อาทิ ผัดไทย แกงมัสมั่น ต้มยำกุ้ง ส้มตำ น้ำตกหมู แกงเขียวหวาน ข้าวเหนียวมะม่วง เนื่องจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่มี 4 ภาคและการหลอมรวมกับอาหารชาติอื่น ทำให้มีการบริโภคอาหารหลากหลายภายในประเทศ ไทยจึงถูกจัดเป็นประเทศที่น่าเดินทางมารับประทานอาหารเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
อุตสาหกรรมอาหารไทยจึงเป็นอุตสาหกรรมหลักอย่างหนึ่งของไทย โดยมีการส่งออกอาหารเป็นมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี เช่น อาหารทะเล ข้าว ผลไม้ น้ำตาล ไก่ เครื่องปรุง เป็นต้น แต่ยังไม่มีการสนับสนุนธุรกิจอาหารอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมดังเช่นอุตสาหกรรมอื่่น ดังที่เราจะเห็นว่า บริษัทอาหารไทยและภัตตาคารไทย เป็นอันดับต้นของโลก ล้วนแต่เป็นของต่างชาติ แทนที่จะเป็นของไทย หรือโดนผูกขาดโดยกลุ่มนายทุน ยากที่ผู้ประกอบการไทยทั่วไปจะสามารถสู้ได้
“ในปัจจุบันร้านอาหารไทยมีอยู่มากกว่า 400,000 ร้านทั่วประเทศ มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นมูลค่าที่มาจากนักท่องเที่ยวประมาณ 700,000 ล้านบาทและจากการบริโภคภายในประเทศประมาณ 700,000 ล้านบาท ครัวไทย ไปครัวโลกมีประมาณ 20,000 ร้าน แต่เป็นของชาวต่างชาติประมาณ 7,000 ราย สำหรับร้านอาหารที่เป็นสมาชิกของสมาคมภัตตาคารไทยมีอยู่มากกว่า 30,000 ร้าน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs หรือ 80% หากสามารถเพิ่มรายได้จากอุตสาหกรรมอาหารได้แม้เพียง 10% จะสามารถช่วยเพิ่มGDP ของประเทศได้มากกว่า1 แสนล้านบาท”
นางฐนิวรรณกล่าวต่อว่า จากเหตุดังกล่าวทางสมาคมภัตตาคารไทยจึงมีความเห็นว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการท้องถิ่นและรายย่อยให้สามารถทัดเทียมต่างประเทศและกลุ่มนายทุนเพื่อก้าวขึ้นสู่การแข่งขันระดับโลก โดยอาศัยความร่วมมือกันของร้านอาหารที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯที่มีอยู่มากกว่า 30,000 ร้าน สมาคมการตลาดท่องเที่ยว ผู้ผลิตวัตถุดิบ เกษตรกร อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ผ่านทางสมาพันธ์ SME ไทย เพื่อผนึกกำลังกัน สร้างเครือข่ายทั้งประเทศ ทำงานด้วยกันทั้งห่วงโซ่อาหาร เพื่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทยให้พร้อมสู่ตลาดโลก
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดล โดยดร.สมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ และผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน หัวหน้าสาขาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจะมาร่วมช่วยผลักดันการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยด้วย โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีมาใช้ ทำระบบออนไลน์เพื่อดึงผู้ประกอบการในระบบทั้งหมดเข้ามา เพราะยังมีร้านอาหารอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมภัตตาคารไทย โดยสมาคมภัตตาคารไทยเป็นตัวหลัก นำร้านอาหารสมาชิกสมาคมฯมาเป็นคอนเทนต์ ช่วยให้สามารถหาอาหารได้อย่างละเอียดและรองรับหลายภาษา เป็นประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการเครือข่ายอาหารทั้งหมดและประชาชนทั่วไป
“ระบบออนไลน์มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มยอดขายให้แก่ร้านอาหาร คนขายคือเกษตรกร พบผู้ซื้อคือ ร้านอาหาร เป็นข้อมูล้านอาหารสำหรับผู้บริโภค คาดว่าจะเปิดตัวในเร็ว ๆนี้”
นอกจากนี้แล้วจะมีการจัดงานต่อเนื่อง ได้แก่ “Network is Power Matching Day คู่หูดี มีแต่รุ่ง ครั้งที่3 ” วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2559 ณ สโมสรรัฐสภา โดยนายสุภัค หมื่นนิกร ที่ปรึกษาสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า มีการจัดงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมกราคมเพื่อรวมตัวผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารมาพบปะทำความรู้จักกัน สร้างเครือข่าย ทั้งร้านอาหาร-ผู้ผลิตวัตถุดิบ-สินค้า ธุรกิจเกี่ยวเนื่องและกูรู เชื่อมต่อธุรกิจอาหารอย่างครบวงจร โดยครั้งแรกจัดที่โรงแรมริเวอร์ไซด์ มีผู้เข้าร่วมงานเพียง 70 คน ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์จัดที่ภัตตาคารมังกรหลวง มีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 300 คน สำหรับเดือนมีนาคมครั้งล่าสุดนี้คาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมราว 500-700 คน
” Network is Power เป็นนโยบายเพื่อให้จุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของสมาคมภัตตาคารไทย ของเจ้าของร้านอาหาร เจ้าของวัตถุดิบและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กูรูและภาครัฐ สู่การเป็นกิจกรรมรายเดือนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อไปจะมีต่างจังหวัดด้วย”
สำหรับรูปแบบกิจกรรมในงาน ได้แก่ การสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน การเปิดบูธของ 4 หน่วยงาน เพื่อปรึกษาหารือ การเจรจาธุรกิจหรือแมชชิ่งและรับประทานอาหาร