ยันฮีให้น้อง “ยิ้มสวยด้วยแพทย์”
รักษาปากแหว่ง-เพดานโหว่ปี19
โรงพยาบาลยันฮีเดินหน้าโครงการ “ยิ้มสวย ด้วยแพทย์” ต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 19 โดยได้รับเกียรติจากนางปวีณา หงสกุล จากมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี มาร่วมเป็นประธานเปิดงาน ชี้ปีนี้ยอดเด็กสมัครพุ่งเป็น 206 คน ผลจากการแชร์สนั่นบนโลกโซเชียลช่วยสร้างการรับรู้เพิ่ม ระบุรับเด็กทุกคนที่สมัครเข้ามาไม่เลือกสัญชาติ เพื่อเป็นสาธารณกุศล 18 ปีมีเด็กได้รับการผ่าตัดรักษาไปแล้ว 1,401 ราย รวมค่ารักษาพยาบาลกว่า 50 ล้านบาท หวังอนาคตกระตุ้นให้หน่วยงานทั้งภาครัฐบาล-เอกชน ร่วมผลักดัน “เมืองไทย ไร้คนปากแหว่ง” ที่พบราว 600 คนต่อปี
นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลยันฮีได้จัด “โครงการยิ้มสวย ด้วยแพทย์” อย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 19 แล้วถือเป็นโครงการช่วยเหลือสังคม (CSR) ที่น่าภาคภูมิใจของรพ.เป็นอย่างยิ่ง โดยมีเด็กที่ได้รับการผ่าตัดรักษาไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,401 ราย และยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ให้หายเป็นปกติอย่างต่อเนื่องทุกปี ๆ ละ 100 ราย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
โครงการนี้ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2541 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (กรมประชาสงเคราะห์ในขณะนั้น) เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลกับเด็กดังกล่าวในแต่ละจังหวัด เพื่อเข้ามาทำการผ่าตัดรักษาในโรงพยาบาลยันฮี ซึ่งตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา ทางรพ.ยันฮี ได้ให้การผ่าตัดรักษาเด็กพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ไปแล้วกว่า 1,401 ราย หรือหากคิดเป็นค่าใช่จ่ายที่ให้การช่วยเหลือเป็นมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท
“ทำโครงการนี้เพื่อการกุศล อยากทำบุญ เนื่องจากโรงพยาบาลยันฮีมีแพทย์ บุคลากรพร้อมอยู่แล้ว โดยมีศัลยแพทย์จำนวน 16 คน จึงอยากทำเพื่อเพื่อนมนุษย์โดยใช้ทุนของตัวเอง ซึ่งในปีนี้ รพ.ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานในภาครัฐบาล โดยเฉพาะกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ให้การช่วยเหลือและส่งเด็กพิการปากแหว่งเพดานโหว่มาให้รพ.อย่างต่อเนื่อง ร่วมทั้งการส่งต่อข้อมูลผ่านโลกโซเชียล ซึ่งเป็นช่องทางที่ประชาชนและผู้มีจิตศรัทธารับรู้และช่วยกันส่งต่อข่าวสารอันเป็นกุศลนี้เป็นอย่างดี ทำให้ในปีที่ 19 นี้ มีผู้ติดต่อเข้ามาร่วมโครงการเพิ่มขึ้นถึง 206 คน และทางรพ.ยันฮี ยินดีจะรับเด็กปากแหว่ง-เพดานโหว่ทุกคนเข้าโครงการอย่างต่อเนื่อง ไม่เลือกปฏิบัติ รับทุกสัญชาติ เชื้อชาติ โดยจะทยอยนัดมาพบแพทย์และผ่าตัดรักษาต่อไป ”
นพ.สุพจน์กล่าวต่อว่า ความพิการปากแหว่ง- เพดานโหว่ เป็นปัญหาที่พบได้ประมาณ 600 รายต่อปีทั่วประเทศไทย โดยจากการศึกษาข้อมูลพบว่า สาเหตุทางพันธุกรรมมีส่วนอยู่มาก หรือผู้ที่อยู่ในครอบครัวที่มีผู้พิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ทำให้มีโอกาสจะเกิดปัญหานี้สูงถึง 50% นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มเกิดกับครอบครัวที่ยากจน ห่างไกลความเจริญ ผู้เป็นมารดารับประทานอาหารไม่ครบถ้วน 5 หมู่ในขณะตั้งครรภ์ รับประทานแต่ผัก ไม่รับประทานโปรตีน หรือมีการรับประทานยาขับเพื่อหวังขับออกในกรณีการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม แต่ทำไม่สำเร็จ ซึ่งยาจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของตัวเด็ก หรือการซื้อยาแก้แพ้ท้องรับประทานเอง
เดิมกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ทุกโรงพยาบาลของรัฐรับรักษาอยู่แล้ว ทั้งโรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัด บ้างก็ไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูง ครอบครัวในกรุงเทพฯพาเด็กไปรักษาที่โรงเรียนแพทย์ต่างๆ เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นต้น แต่เด็ก ๆ ในต่างจังหวัด พื้นที่ห่างไกลที่ยังขาดโอกาสสามารถมารักษาที่โรงพยาบาลยันฮีได้
ทั้งนี้โรงพยาบาลยันฮีมีงบประมาณช่วยเหลือในโครงการปีละ 5 ล้านบาท ค่ารักษาภาวะปากแหว่งรายละ 35,000 บาท ถ้ารวมเพดานโหว่ด้วย รายละ 50,000 บาท โดยมีค่าเดินทางมารักษาให้รายละ 1,000 บาท มีของขวัญของเล่นให้กับเด็ก ๆ พร้อมที่พัก 1 คืนก่อนกลับบ้าน
สำหรับหลักเกณฑ์ในการรับเด็กเข้าร่วมโครงการนั้น เป็นเด็กที่มีความพิการปากแหว่ง- เพดานโหว่จากครอบครัวฐานะยากจน อายุระหว่าง 3 เดือน – 15 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่สามารถผ่าตัดรักษาความพิการให้หายเป็นปกติได้ดีที่สุด
“การรักษาในวัย 3 เดือนเป็นวัยที่ยังไม่มีความทรงจำ เกิดแผลเป็นน้อย ซึ่งแพทย์จะรักษาปิดริมฝีปากให้ ดีกว่ารักษาตอนโตเพราะเด็กจะฝังใจในความพิการของตนเอง รวมถึงมีเพื่อนล้อ ทำให้เป็นปมด้อย รักษาตอนเด็กจึงดีกว่า เพราะเด็กยังไม่มีเพื่อนมาก ปากแหว่ง เพดานโหว่ รักษาแล้ว มีการฝึกเด็กพูดเพื่อให้เด็กพูดได้ตามปกติ สามารถดื่มน้ำ รับประทานอาหารได้เป็นปกติ ใช้ชีวิตได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป”
นอกเหนือจาก “โครงการยิ้มสวย ด้วยแพทย์” นี้แล้ว ทางโรงพยาบาลยันฮียังมีโครงการเพื่อสังคมอื่น ๆ อีกหลายโครงการ อาทิ โครงการบริจาคเลือดทุก 3 เดือน โครงการช่วยเหลือสตรีที่ถูกทำร้าย ถูกไฟไหม้ หรือโดนน้ำกรด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการประสานผ่านมายังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
อนึ่งผู้ที่สนใจทั่วไป หรือมูลนิธิต่างๆ ทั่วประเทศ ที่มีเด็กพิการดังกล่าวอยู่ในความดูแลหรือพบเห็นเด็กพิการตามหลักเกณฑ์ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โรงพยาบาลยันฮี โทร. 1723 ตั้งแต่เวลา 8.00-18.00 น.