ชมวัฒนธรรมไลฟ์สไตล์ไทยพม่า
“พม่าระยะประชิด” มิวเซียมสยาม
แม้ไทยและพม่าจะเป็นทั้งมิตรและศัตรูกันมานาน แต่ในโลกสมัยใหม่ การมีมิตรภาพที่ดีต่อกันไว้ ย่อมนำพาความผาสุกมาสู่เราทั้งสองประเทศตลอดไป เวลานี้ทางมิวเซียมสยามได้เปิดตัว “พม่าระยะประชิด” หรือ “Myanmar Up-Close” นิทรรศการเกาะติดชีวิตชาวพม่าในประเทศไทย ที่มุ่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพม่าให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยในวงกว้าง และมุ่งหวังให้ประชาชนเปิดใจ ทำความรู้จักผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากขึ้น โดยนำเสนอประสบการณ์ ความจริง และสิ่งของของชาวพม่าในไทย ผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ
นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หรือ มิวเซียมสยาม กล่าวว่า หากมองภาพใหญ่ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า อาจให้ความรู้สึกว่าทั้งสองชาตินี้มีความใกล้ชิดกัน แต่หากพิจารณาในแง่ของปัจเจกชนนั้นจะพบว่า ความเข้าใจของคนไทยต่อชาวพม่าในไทยยังมีจำกัด ในขณะที่คนบางกลุ่มอาจมีกรอบอคติที่สร้างขึ้นจากความไม่เข้าใจ ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญในการอยู่ร่วมกันภายใต้ประชาคมอาเซียน ดังนั้น มิวเซียมสยาม ในฐานะองค์การจัดการความรู้ขนาดใหญ่ จึงได้เปิดตัวนิทรรศการ “พม่าระยะประชิด” เพื่อที่จะนำเสนอเรื่องราวชีวิตของชนชาวพม่าในประเทศไทย สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคนพม่าให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยในวงกว้าง และมุ่งหวังให้ทุกคนเปิดใจทำความรู้จักผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ทั้งนี้นิทรรศ “พม่าระยะประชิด” หรือ “Myanmar Up-Close” นั้น เป็นนิทรรศการที่ตีแผ่เรื่องราวชีวิตของชนชาวพม่าในประเทศไทย ในแง่มุมต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ทั้งในเรื่องความใฝ่ฝัน ชีวิตความเป็นอยู่ การปรับตัวต่อสังคมไทย ตลอดจนคุณูปการของชาวพม่าต่อสังคมไทย โดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้จากการถ่ายทอดประสบการณ์ ความจริง และสิ่งของจากสภาพความเป็นอยู่จริงของชาวพม่า ที่ได้จากการลงภาคสนาม และสร้างความสัมพันธ์กับชาวพม่าชนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมอญ กะเหรี่ยง ปะโอ ฯลฯ ในหลากหลายพื้นที่ เป็นระยะเวลา 1 ปี มานำเสนอผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ อาทิ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และอินโฟกราฟิก ภายใต้คอนเซปต์ “Guest (’s) House” พื้นที่เล็กๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ทำความรู้จักกับชาวพม่า ในฐานะแขกคนหนึ่งของประเทศไทยให้มากขึ้น พร้อมนำชมโดยชาวพม่าที่อาศัยและทำงานอยู่ในประเทศไทยมากว่า 7 ปี
โดยภายในนิทรรศการนั้นแบ่งออกเป็น 2 โซน
สำหรับโซนแรก “เกสต์เฮาส์ (Guest’s House)” แกะรอยเส้นทางชีวิตของชาวพม่าในประเทศไทยผ่าน ที่มา – ที่เป็นอยู่ – ที่ไป
ที่มา ถ่ายทอดประสบการณ์ผ่าน “รถกระจก” สะท้อนให้เห็นถึงวิถีทางที่ชาวพม่าใช้ในการข้ามเขตแดนมายังประเทศไทย ตั้งแต่การเดินเท้าข้ามเขา ข้ามป่า ล่องแพฝ่าน้ำเชี่ยว ตลอดจนการซ้อนท้ายรถกระบะคันเดียวกันกว่า 40 คน ต่อด้วยการจัดแสดง“หมอนแห่งความฝัน” นำเสนอความมุ่งหวังของคนพม่าอันเป็นแรงผลักให้เดินทางมาสู่ประเทศไทย อาทิ ความต้องการรายได้ในการเลี้ยงชีพ การตามหาเสรีภาพและความสงบสุขจากเหตุร้ายทางการเมือง ความใฝ่ฝันในการแสดงออกซึ่งเพศสภาพอย่างอิสระ ฯลฯ โดยต่างคนก็จะมีความฝันที่แตกต่างกันออกไป แต่รวมอยู่บนจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การแสวงหาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ที่เป็นอยู่ เปิด “ล็อกเกอร์” นำเสนอเรื่องราวความเป็นอยู่ของชาวพม่าในประเทศไทย ผ่านสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันทั้งที่ชาวพม่านำติดตัวมาจากบ้านเกิด เช่น แป้งฝุ่นตะนะคา ยาแผนโบราณตำรับพม่า งาปิ ล็อกเกตรูปพ่อแม่ ฯลฯ และที่หาซื้อเพื่อใช้ภายในประเทศไทยหรือ เพื่อนำกลับไปฝากคนที่พม่า อาทิ ปิ่นโต รังนก ทองคำ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีสิ่งของที่สะท้อนถึงการประกอบอาชีพ การรับสิทธิ์และสวัสดิการ และการจัดกิจกรรมทางสังคมต่างๆ รวมไปถึงพิธีกรรม และความเชื่อทางศาสนา โดยมีการอัญเชิญ “ฉัตรยอดเจดีย์ชเวดากองจำลอง” มาจากวัดเชิงเขา อำเภอทองผาภูมิจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อยกระดับการเรียนรู้วิถีทางวัฒธรรม และเปิดโอกาสให้คนไทยได้มีประสบการณ์ร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในประเพณีอันยิ่งใหญ่ของชาวพม่า
ที่ไป ฉายวิดีทัศน์ นำเสนอการตามติดชีวิตแรงงานชาวพม่ากลับไปยังบ้านเกิด ไปดูกันว่าเงินที่เก็บหอมรอมริบจากเมืองไทยทำฝันให้เป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด และความฝันครั้งต่อไปคือสิ่งใด ไม่แน่ว่าชาวพม่าที่เป็นแรงงานรับจ้างในเมืองไทย บางคนอาจกำลังกรุยทางสู่การเป็น “เถ้าแก่” ในกิจการที่บ้านเกิดก็เป็นได้
ส่วนโซนที่สอง “เกสเฮาส์ (Guess House)” บางครั้ง เราใช้การเดา หรือ “มโน” แทนการทำความเข้าใจ นิทรรศการในโซนนี้ นำเสนอบททบทวนมายาคติต่างๆ ของคนไทยที่มีต่อคนพม่า โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ในแบบเรียน อาทิ “ศึกยุทธหัตถี เรื่องเล่าคนละเวอร์ชั่น” การหยิบยกบทเรียนประวัติศาสตร์ของไทยกับของพม่ามาเทียบเคียงกัน รวมถึงประวัติศาสตร์ฉบับประชาชนที่ปรากฏในเพลงกล่อมเด็กทั้งของไทยและพม่า นอกจากนี้ ยังมีบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับจุดพลิกผันที่เปลี่ยนมุมมองจาก “พม่าข้าศึก” เป็น “เพื่อน” จากประสบการณ์ตรงของคุณธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติ, คุณคามิน คมณีย์ ผู้เขียนหนังสือ “ไปเป็นเจ้าชาย…ในแคว้นศัตรู” และ คุณธนิตย์ จิตนุกูล ผู้กำกับภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อันโด่งดัง “บางระจัน”
นายธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา กล่าวว่า ประเทศไทย และประเทศพม่า นั้นมีความใกล้ชิดผูกพันกันมายาวนาน ทั้งสองชาติมีการแลกเปลี่ยน และซึมซับวัฒนธรรมซึ่งกันและกันอยู่เรื่อยมา ทว่าเราอาจไม่ได้ใส่ใจหรือสังเกต อย่างเช่น “เพลงช้าง” ที่คนไทยคุ้นหูกันตั้งแต่วัยเด็กนั้น เดิมแล้วเป็นเพลงออกภาษาพม่า คือผู้แต่งได้รับทำนองเพลงเบื้องต้น ซึ่งมีกลิ่นอายจากพม่ามาเรียบเรียงจนกลายเป็นเพลง “พม่าเขว” นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเพลงไม่ว่าจะเป็นเพลง “เดือนเพ็ญ” ที่มาจากทำนองเพลง “พม่าเห่” หรือแม้แต่เพลงเทียบเวลาก่อนเคารพธงชาติก็ยังมีชื่อเรียกว่าเพลง “พม่าประเทศ” ซึ่งปัจจุบันทำนองเพลงพม่าประเทศได้กลายมาเป็นที่รู้จักของกลุ่มวัยรุ่นชาวไทยอีกครั้ง เมื่อนักแสดงตลกอย่าง เท่ง เถิดเทิง นำทำนองเพลงดังกล่าวมาใส่เนื้อร้องจนกลายเป็นเพลง “อ๊อดแอด” ในขณะที่การแสดงนาฏศิลป์ของพม่า ก็ได้รับอิทธิพลจากการแสดงโขนของไทยเช่นกัน
ด้านนางตูซาร์ นวย อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวในฐานะชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมากว่า 26 ปี ว่า หากมองย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วคนไทยยังค่อนข้างฝังใจและยึดติดอยู่กับประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากบทเรียนประวัติศาสตร์ของไทยที่มักลงรายละเอียดในด้านการบรรยายอันก่อให้เกิดอารมณ์ชาตินิยมแตกต่างจากบทเรียนประวัติศาสตร์ของพม่าที่จะอธิบายถึงลำดับเหตุการณ์ และสถานการณ์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสังคมไทยมีความเปิดกว้างทางความคิดมากขึ้นตามลำดับเวลา ทั้งสองชาติเปิดรับในวัฒนธรรมของซึ่งกันและกันมากขึ้น เป็นต้นว่าคนพม่าก็ดูละคร และภาพยนตร์ของไทย ในขณะที่คนไทยก็เริ่มจะรู้จักศิลปินพม่า ส่งผลให้สถานการณ์ความเป็นอยู่ของชาวพม่าในประเทศไทยมีความสบายใจมากขึ้น โดยส่วนตัวเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติจะดีขึ้นต่อไป หากเราพยายามเรียนรู้ และทำความเข้าใจกัน
มาร่วมทำความรู้จักกับ “เพื่อนบ้าน” ในมุมมองใหม่ๆ สัมผัสประสบการณ์ชีวิตที่จะช่วยให้คุณได้ย้อนมองความคิดอ่านของตัวเองมากขึ้นในนิทรรศการ “พม่าระยะประชิด” ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 เวลา 10.00 – 18.00 น. (ปิดวันจันทร์) ณ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการจัดแสดงนิทรรศการจะมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น การแสดงหุ่นกระบอกพม่า การเสวนาประวัติศาสตร์พม่าที่หายไป การแสดงละครเวทีโดยนักแสดงเด็กชาวพม่า การเวิร์กชอปโหราศาสตร์และการดูดวงแบบพม่า เป็นต้น สอบถามเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan
สำหรับการเดินทางมามิวเซียมสยามมีเส้นทางต่อไปนี้
· ทางรถยนต์ : ลงทางด่วนที่ด่านยมราช วิ่งเข้าเส้นหลานหลวง เข้าสนามหลวง ผ่านวัดพระแก้ว วิ่งตรงมาทางวัดโพธิ์ รถบังคับเลี้ยวซ้าย แล้วเลี้ยวขวาผ่านหน้ากรมที่ดิน เลี้ยวขวาอีกทีหน้า สน.พระราชวัง วิ่งมา มิวเซียมสยามอยู่ซ้ายมือ
· ทางรถโดยสาร : สาย 3, 6, 9, 12, 32, 44, 47, 53, 82, 524
· ทางรถไฟฟ้า BTS: ลงสถานี “วงเวียนใหญ่” แล้วนั่งรถประจำทางสาย 82
· ทางรถไฟใต้ดิน MRT: ลงสถานี “หัวลำโพง” แล้วนั่งรถประจำทางสาย 1, 3, 5
· ทางเรือ : ลงท่าเรือ “ท่าเตียน” เดินออกมาจนเจอถนนใหญ่แล้วเลี้ยวขวา เดินตรงผ่านหน้าวัดโพธิ์ แล้วจะเห็นมิวเซียมสยามอยู่ทางซ้ายมือ