SME Bankจัดวันครอบครัว SMEs
ไกล่เกลี่ยหนี้แท็กซี่-รายย่อย
เอสเอ็มอีแบงก์ ช่วยลูกค้ารายย่อยที่สะดุดมีปัญหาในการชำระหนี้ มาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารในเงื่อนไขแบบผ่อนปรนสุด ๆ ให้โอกาสเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนความคิด ชีวิตเปลี่ยน” พร้อมจัดฝึกสอนอาชีพเสริมรายได้และอบรมทักษะด้านภาษา รวมจีน เกาหลี อังกฤษ และญี่ปุ่น ให้กับลูกหนี้กลุ่มแท็กซี่ต้อนรับ AEC รองรับให้บริการชาวต่างชาติ มีผู้ประกอบการรายย่อยและกลุ่มแท็กซี่ซึ่งเป็นลูกค้าเก่ามานานประมาณ 300 รายร่วมงาน ระบุเฉพาะแท็กซี่มีเอ็นพีแอล 600 คันรวมยอดหนี้มากกว่า 100 ล้านบาท มาเจรจาราว 200 คัน
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า เอสเอ็มอีแบงก์ ได้จัดงาน วันครอบครัว SMEs ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือให้โอกาสลูกค้ารายย่อยและกลุ่มพี่น้องแท็กซี่ ซึ่งนับเป็นลูกค้าเก่าแก่ร่วมสิบปี ประมาณ 300 ราย เปิดโอกาสมาเจรจาไกล่เกลี่ยผ่อนปรนหนี้โดยธนาคารยินดีจะช่วยเหลือทุกทางเพื่อให้ได้ข้อยุติที่พึงพอใจทั้ง 2 ฝ่ายและจะได้ตั้งต้นเริ่มเงื่อนไขกันใหม่อีกครั้ง
“กิจกรรมภายใต้ชื่อ วันครอบครัว SMEs เราจะดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกรายดุจดังญาติมิตรในครอบครัวเดียวกัน ในงานจะเป็นแบบ One Stop Service คือมาเจรจาแล้ว เมื่อตกลงเงื่อนไขเสร็จเรียบร้อยจะอนุมัติและทำสัญญากันเลย ลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาหลายรอบ จะได้ไปทำมาหากินอย่างสบายใจ โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่ ในโครงการพัฒนาแท็กซี่ไทย ประมาณ 100 คน ที่ได้เจรจาหาข้อยุติเรียบร้อยแล้ว จะนัดมาลงนามในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้เงื่อนไขพิเศษสุด ๆ ด้วย”
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ เอสเอ็มอีแบงก์เปิดเผยว่า ชวนผู้ประกอบการแท็กซี่และรายย่อยมาคุยกันไกล่เกลี่ยหนี้เพื่อช่วยเหลือให้แก้ปัญหาต่อไปได้ สำหรับในส่วนของแท็กซี่ขณะนี้มียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) รวมประมาณ 600 คัน เป็นเงินมากกว่า 100 ล้านบาท มีผู้เดินทางมารวมไกล่ทั้งหมด 200 คัน โดยผู้ขับแท็กซี่สามารถผ่อนชำระได้ที่ 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งรวมทั้งต้นและดอกเบี้ย (กรณียอดหนี้ไม่เกิน 360,000 บาท)
นอกจากนี้นางสาลินียังกล่าวด้วยว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ได้หารือกับพันธมิตรเป็นมหาวิทยาลัยและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) เพื่อจะจัดทำพื้นที่ Co-Working Space ให้เป็นศูนย์นวัตกรรมจริง ๆ หรือ Innovation Center ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับพัฒนาและยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้เอสเอ็มอีมาใช้พื้นที่ทำงานได้ฟรีและยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย โดยจะจัดเต็มพื้นที่ด้านล่างของที่ทำการสำนักงานใหญ่ของธนาคารฯ พหลโยธิน กรุงเทพฯ ซึ่งมุ่งให้เป็นศูนย์ด้านวิศวกรรมและไอที
แต่ต้องการเปิดในพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย เช่นที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี โดยจะร่วมกับธกส.ที่มีกำลังมากกว่าและเชี่ยวชาญด้านการเกษตรและการเกษตรแปรรูป ก็จะธกส.เป็นผู้นำทางด้านเกษตรไป ส่วนทางภาาคใต้จะร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลาครินทร์(มอ.) เป็นศูนย์ด้านประมงและเคมี เพราะมีความเก่งทางด้านนี้ ด้านเครื่องสำอาง ทำงานแบบเกาหลีใต้ที่จะตรวจสอบตลาดก่อนว่า ตลาดต้องการอะไรเพื่อทำให้งานวิจัยไม่อยู่บนหิ้ง โดยงบประมาณที่จะมาลงทุนพัฒนาเอสเอ็มอีและจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมไม่เกิน 300 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่จัดสรรจากกำไรหรือรายได้ของธนาคารเอง ซึ่งมาจากการปล่อยสินเชื่อที่เป็นธุรกิจหลัก
“ทั้งนี้ในปี2559 เอสเอ็มอีแบงก์ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อที่ 35,000 ล้านบาท หรือปล่อยสินเชื่อดีหรือ Good Loan เพื่อให้เกิดรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยรับนำมาพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อไป เพราะการร่วมทุนกับผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพยังต้องใช้เวลานานกว่าจะได้เงินกลับมา ซึ่งการมีกำไรจะช่วยให้แก้ปัญหาเอ็นพีแอลได้ด้วยที่ขณะนี้ยอดเอ็นพีแอลรวมของธนาคารฯอยู่ที่ 23,000 ล้านบาท โดยคาดว่า มีกำไรอยู่ที่ 150 ล้านบาทต่อเดือน ”
นอกจากกิจกรรมไกล่เกลี่ยหนี้แล้ว ธนาคารยังได้จัดกิจกรรมพิเศษ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเพิ่มรายได้เสริมธุรกิจครอบครัวอีกด้วย โดยภายในงานมีการสอนอาชีพเสริม เช่น กาแฟสด ไอศกรีมกะทิสด ยาหม่องน้ำ เพ้นเล็บแฟชั่น แต่งหน้า และครีมมาสก์หน้า และยังมีบริการฟรีให้ผู้เข้าร่วมงานทั้งตัดผม นวดผ่อนคลาย และห้องเสริมความรู้ทักษะสำหรับลูกหลานของลูกหนี้อีกด้วย นอกจากนี้ มีอบรมทักษะด้านภาษา พร้อมจัดทำคู่มือ 4 ภาษา จีน เกาหลี อังกฤษ และญี่ปุ่น ให้กับลูกหนี้กลุ่มแท็กซี่ เพื่อพัฒนาตัวเองในการให้บริการกลุ่มลูกค้าต่างชาติ สร้างโอกาสมีรายได้เพิ่มเติมในการประกอบอาชีพด้วย
นายมงคล กล่าวตอนท้ายว่า กิจกรรมวันครอบครัว SMEs เป็นการย้ำบทบาทการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาหรือ SME Development Bank ที่พร้อมจะดูแลลูกค้าทุกกลุ่ม พร้อมช่วยเหลือด้านเงินทุนด้วยความจริงใจ และพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้