มติที่ประชุมASEAN-WEN11
รวมASEAN-WEN-ทีมCITES
จากการประชุม ASEAN-WEN ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 22-25 มีนาคม 2559 ณ เสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการรวมหน่วยงาน “เครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งภูมิภาคอาเซียน (ASEAN-Wildlife Enforcement Network: ASEAN-WEN)” เข้ากับคณะทำงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่า (ASEAN Expert Group on CITES: AEG) เพื่อประหยัดงบประมาณ
นับเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษที่ ASEAN-WEN ได้ทำงานด้านการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าและพันธุ์พืชในภูมิภาคอาเซียน โดยในแต่ละปี มีการจัดประชุมเพื่อพูดคุย หารือและแลกเปลี่ยนความเห็น เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งในการประชุมครั้งล่าสุด ประเทศสมาชิกเห็นตรงกันว่า ปัญหาด้านงบประมาณที่ทุกประเทศสมาชิกต้องให้การสนับสนุนแก่สำนักงาน ASEAN-WEN ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทยเป็นปัญหาสำคัญ จึงมีมติเห็นชอบให้รวมสำนักงาน ASEAN-WEN และ ASEAN Expert Group on CITES เข้าด้วยกัน โดยทำงานขึ้นตรงต่อสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ภายใต้แผนปฏิบัติการ 10 ปี เพื่อการต่อสู้กับการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
นายไฟแซล นอร์ดิน หัวหน้ากองการสัตว์ป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการท่องเที่ยว ประเทศบรูไนดารุซารามและประธานเครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งภูมิภาคอาเซียน วาระปี 2015-2016 กล่าวว่า “แม้ว่า ASEAN-WEN จะสามารถสร้างผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ในการบังคับใช้กฎหมายและเสนอแนะนโยบายอันเป็นประโยชน์มาตลอด แต่เราควรให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ASEAN-CITESและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความเข้มแข็งและยั่งยืน นอกจากนี้ เรายังมุ่งมั่นในการสร้างพันธสัญญาระหว่างรัฐบาลของประเทศสมาชิกเพื่อการหยุดยั้งการกระทำผิดเกี่ยวกับสัตว์ป่า ซึ่งต้องขอบคุณหน่วยงานจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน รวมทั้งหน่วยงานในภูมิภาคอาเซียน ทั้ง ASEANAPOL, SOMTC, ACB และ AIPA ที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานต่างๆ”
ASEAN Expert Group on CITES: AEG เป็นเครือข่ายการทำงานและผู้กำหนดกฎเกณฑ์ในการค้าขายสัตว์ป่าซึ่งหากรวมเข้ากับสำนักงาน ASEAN-WEN แล้ว จะทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูล ความเชี่ยวชาญ และข่าวกรองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความเข้าใจในขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายในภูมิภาคอาเซียนและประเทศที่เกี่ยวข้องที่มีความซับซ้อนและลึกซึ้ง
ASEAN-WEN และ AEG จะถูกรวมเป็นหน่วยงานเดียวกันชื่อ ASEAN Working Group on CITES and Wildlife Enforcement Network ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ปฏิบัติการ 10 ปี โดย ASEAN-WEN นั้นเป็นหน่วยงานแรกที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายในการทำงานร่วมกับตำรวจ เจ้าหน้าที่ศุลกากร อัยการ และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ซึ่งมีส่วนในความร่วมมือกับ ASEANAPOL ทั้งการสนับสนุนการติดตามดำเนินคดีและการผลักดันนโยบายมาตลอด ในช่วง 5 ปีหลังสุดสามารถฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กว่า 2,000 คนจากหน่วยงานกว่า 430 หน่วยงานมีผลการปฏิบัติงานกว่า 600 คดี และสามารถตรวจยึดสัตว์ป่าและสิ่งที่เกี่ยวข้องมูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ อันเป็นผลให้ภูมิภาคอื่นๆ ยึดถือนำไปปฏิบัติทั้งในแอฟริกา (Horn of Africa Wildlife Enforcement Network: HA-WEN) เอเชียใต้(South Asia Wildlife Enforcement Network: SA-WEN) อเมริกากลาง (Central America Wildlife Enforcement Network: CA-WEN)
ร.ต.อ. วัฒนรักษ์ สุรนารถยุทธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Wildlife Enforcement Network Law Enforcement Extension Office: ASEAN WEN LEEO) กล่าวว่า “ผมคาดหวังให้ ASEAN-WEN ยกระดับระบบการจัดหาแหล่งทุนแก่สำนักเลขาธิการฯ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น อาทิ ASEANAPOL ซึ่งวิธีเดียวที่จะทำได้คือการสร้างความเข้มแข็งแก่เครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายระดับประเทศและระดับนานาชาติในแต่ละประเทศสมาชิกและการประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ASEANAPOL, INTERPOL, World Customs Organization และหน่วยงานภาครัฐ แทนที่จะทำงานทับซ้อนหรือแย่งชิงผลงานกัน”