ประชุม NAC2016 ฉลอง25ปี
สวทช.วิทย์-เทคเพื่อสังคมไทย
สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2559 (NSTDA Annual Conference 2016: NAC2016) ภายใต้หัวข้อ “25 ปี สวทช. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่ออนาคตเศรษฐกิจและสังคมไทย” ที่จัดระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 2 เมษายน 2559 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี นำเสนอผลงานวิจัยที่เป็นการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างความเจริญให้กับประเทศ
นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวบังคมทูลรายงานว่า สวทช. เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534 นับถึงปัจจุบันมีการดำเนินงานมาแล้ว 25 ปี สร้างผลงานวิจัยที่เพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย อาทิ สายพันธุ์ข้าวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วม ชุดตรวจไข้หวัดนก เครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคง เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติสำหรับการผ่าตัดฟันเครื่องแรกของประเทศไทย ฟิล์มบรรจุภัณฑ์เพื่อยืดอายุผลิตผลสด เครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโน เป็นต้น
และมีบทบาทในการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโครงการตามพระราชดำริ สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่และเยาวชนทุกช่วงชั้น รวมถึงการเสริมสร้างการเรียนการสอนให้แก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา และ สวทช. ยังได้สร้างพื้นฐานในการ ก่อตั้งหลายหน่วยงานที่มีพันธกิจเฉพาะทาง อาทิ สถาบันอาหาร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เลิร์นเทค จำกัด และ บริษัท ที–เน็ต จำกัด เป็นต้น
สำหรับปีงบประมาณ 2558ที่ผ่านมา สวทช. มีผลงานที่เป็นองค์ความรู้ ได้แก่ สิ่งตีพิมพ์ ทรัพย์สินทางปัญญา และผลงานที่ได้รับการถ่ายทอดเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์จำนวนมาก คำนวณได้ว่ามีมูลค่าการลงทุนจากกิจกรรมของ สวทช. 9,580 ล้านบาท ได้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 18,900 ล้านบาท และ สวทช. ยังได้ดำเนินการผลักดันนโยบายระดับชาติที่สำคัญ ได้แก่ มาตรการทางภาษี 300% และบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนสนใจลงทุนวิจัยและพัฒนามากขึ้น สวทช. ได้จัดการประชุมประจำปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาที่ สวทช. ได้สนับสนุนและดำเนินการโดยนักวิจัยของ สวทช. ทั้ง 4 ศูนย์แห่งชาติ ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เครือข่ายภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อขับเคลื่อนประเทศในด้านต่างๆ ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคการผลิตและบริการ
ด้านนายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กราบบังคมทูลเบิกผู้เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตรในโครงการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการวิจัยที่ สวทช. ให้การสนับสนุนและส่งเสริม เพื่อให้เกิดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถที่จะนำทรัพยากรต่างๆ มาประยุกต์ให้เกิดนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ได้แก่ คณะนักวิจัยโครงการทุนนักวิจัยแกนนำ โครงการทุน NSTDA Chair Professor และโครงการทุน PTT NSTDA Chair Professor / ผู้ชนะเลิศการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 18 และเกษตรกรผู้ชนะการประกวดนวัตกรรมชาวบ้านด้านการเกษตร
จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสเปิดงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2559 พร้อมเสด็จฯ ไปทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการ “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย” ต่อจากนั้นทรงทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานในโซนเทิดพระเกียรติ อาทิ โครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558/การพัฒนาทักษะคอมพิวเตอร์ของเยาวชนบ้านพินิจสู่การสร้างสรรค์การ์ตูนไลน์/การพัฒนาศักยภาพคนพิการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี/โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย/โครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย และโรงเรียนต้นแบบด้านการศึกษาสำหรับชุมชนชายขอบ เป็นต้น และความก้าวหน้าของผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. อาทิ การพัฒนายาต้านมาลาเรีย P218/ตัวพายึดเกาะเยื่อเมือก เพื่อผลิตภัณฑ์ในช่องปาก/ซอฟต์แวร์ทันระบาด รู้ทันเหตุการณ์ไข้เลือดออก/อาหารสำหรับผู้สูงอายุ/ไบโอเซนเซอร์/กระจกเปลี่ยนสีอัจฉริยะสำหรับกรองแสงและความร้อน และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เป็นต้น
นอกเหนือจากการประชุม/สัมมนาทางวิชาการ และการแสดงนิทรรศการแล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมเปิดบ้าน สวทช. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและวิเคราะห์ทดสอบ และการรับสมัครงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี S&T Job Fair กว่า 2,000 อัตราจากภาครัฐและบริษัทชั้นนำกว่า 100 หน่วยงาน โดยงานจะจัดให้มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม – 2 เมษายน 2559 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
สวทช. จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมชมผลงานความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากฝีมือของนักวิจัยไทยที่เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับความสามารถของภาคการผลิตและบริการ ตลอดจนลดความความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และสร้างฐานระยะยาวที่นำไปสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน