พาณิชย์ปั้น “โชวห่วยต้นแบบ”
ใครแกร่งพาโรดโชว์เพื่อนบ้าน
“พาณิชย์” เข้าใจโชว์ห่วย ใช้จุดแข็ง “เข้าใจเพื่อนบ้าน-เข้าถึงพื้นที่” ปั้นโมเดล “ร้านโชวห่วยต้นแบบ” วางรากฐานการบริหารกิจการอย่างเป็นระบบ สร้างฐานที่มั่นลูกค้าท้องถิ่น “ซื้อของใกล้บ้าน-ประหยัดเงิน-ประหยัดเวลา-ได้ของเหมือนกัน” วางโรดแมพพัฒนาค้าส่งค้าปลีกให้เข้มแข็งระยะยาว สุดท้ายใครแข็งแกร่งพาไปโรดโชว์เชื่อมโยงเครือข่ายประเทศเพื่อนบ้าน ขยายธุรกิจให้เติบโต ปัจจุบันมีร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบได้รับการพัฒนาจากกรมฯ และประสบความสำเร็จแล้ว 115 ร้านค้า 417 สาขา ใน 65 จังหวัด
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งแก่ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นธุรกิจในระดับท้องถิ่นที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รวมถึงสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดการจับจ่ายใช้สอยของคนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี จึงได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าทำการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของธุรกิจค้าส่งค้าปลีก พร้อมวางแนวทางการพัฒนาให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เตรียมผลักดันให้เป็นธุรกิจที่อยู่คู่ชุมชนระยะยาว”
“ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกในท้องถิ่น หรือ ร้านโชว์ห่วย มีจุดแข็งหรือข้อได้เปรียบ คือ มีความเข้าใจเรื่องความต้องการสินค้าของเพื่อนบ้านหรือคนในท้องถิ่นเป็นอย่างดี ตลอดจนร้านค้าตั้งอยู่ในพื้นที่อยู่แล้วทำให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อจับจ่ายใช้สอย อันจะเป็นการประหยัดทั้งเวลา/ค่าใช้จ่ายและได้สินค้าที่เหมือนกับร้านค้าอื่นๆ นับเป็นการดีต่อการสร้างฐานที่มั่นลูกค้าในท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง ขณะเดียวกัน จุดอ่อนของร้านค้าส่งค้าปลีก คือ ระบบการบริหารจัดการที่ยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร เช่น การบริหารสินค้าคงคลัง การสร้างความสมดุลระหว่างระบบการจัดซื้อและระบบการจำหน่ายสินค้า เป็นต้น”
“และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมฯ ได้สร้าง “โมเดลร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบ” ขึ้น เพื่อวางรากฐานการบริหารกิจการอย่างเป็นระบบ โดยผู้ประกอบการจะได้รับองค์ความรู้ด้านการบริหารธุรกิจค้าส่งค้าปลีกที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ถือเป็นการยกระดับธุรกิจให้มีความทันสมัย มีระบบการบริหารจัดการที่ดี สามารถช่วยลดต้นทุนของกิจการ และเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจในระยะยาว
นอกจากนี้ กรมฯ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่หน้างานเพื่อรับฟังปัญหา พร้อมเสนอวิธีการแก้ไขแบบตัวต่อตัวเพื่อให้ตรงต่อความต้องการของร้านค้า ซึ่งร้านค้าแต่ละร้าน ตลอดจนพื้นที่แต่ละพื้นที่จะพบปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้น การลงพื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ไม่เป็นการเหวี่ยงแหแก้ปัญหา ซึ่งจะทำให้ร้านค้าส่งค้าปลีกเข้าใจถึงตัวตนตลอดจนจุดอ่อนของตัวเองได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันมีร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบที่ได้รับการพัฒนาจากกรมฯ และประสบความสำเร็จแล้ว จำนวน 115 ร้านค้า 417 สาขา ครอบคลุม 65 จังหวัด”
“กรมฯ ได้ทำการประชาสัมพันธ์ร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบดังกล่าวทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ภายใต้ชื่อกิจกรรม “ฉลาดซื้อ ประหยัดใช้” แก่ร้านค้าที่บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพจนสามารถจำหน่ายสินค้าได้ในราคาประหยัดต่อผู้บริโภค ซึ่งสามารถช่วยเหลือประชาชนในการลดค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 10 – 15%และจะทำการสำรวจเปรียบเทียบราคาขายสินค้ากับราคาตลาดเป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อให้ทราบว่าสินค้าที่ร่วมรายการถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปจริง”
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชนที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน กรมฯ ได้ร่วมมือกับสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย บริษัทผู้ผลิตผู้แทนจำหน่ายสินค้า และร้านค้าส่งต้นแบบทั่วประเทศ จัดกิจกรรม “ค้าส่งรวมใจ โชวห่วยไทยคู่สังคม” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ช่วง ช่วงแรก คือ เดือนเมษายน –พฤษภาคม และช่วงที่ 2 คือ เดือนกันยายน – ตุลาคม จนถึงปัจจุบันได้จัดกิจกรรมฯ ดังกล่าวไปแล้ว จำนวน 7 ครั้ง มีมูลค่าการซื้อ-ขายกว่า 3,314 ล้านบาท และขณะนี้ กำลังดำเนินการจัดกิจกรรมเป็นครั้งที่ 8 โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2559 มีร้านค้าส่งเข้าร่วมกิจกรรมฯ กว่า 89 ราย และร้านค้าปลีกเครือข่ายกว่า 3,500 ร้านค้าทั่วประเทศ คาดว่าหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมครั้งที่ 8 จะมีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจกว่า 500 ล้านบาท
และท้ายที่สุด เมื่อธุรกิจค้าส่งค้าปลีกมีความเข้มแข็ง มีระบบการบริหารจัดการที่เป็นสากลแล้ว กรมฯ จะดำเนินการจัดกิจกรรม “เชื่อมโยงธุรกิจและจับคู่ธุรกิจ” (Business Matching) รวมถึงการนำธุรกิจฯ ไปโรดโชว์เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย เพื่อเป็นการขยายธุรกิจและประสานความร่วมมือด้านการค้าในระดับBorder Trade ทั้งนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดคณะผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกไทยเดินทางไปเชื่อมโยงธุรกิจ ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยหลังเสร็จสิ้นการเชื่อมโยงฯ มีผู้ประกอบการสามารถบรรลุข้อตกลงซื้อ-ขายสินค้าทันที มูลค่ากว่า 120,000 บาท และกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาซื้อ-ขายสินค้าในส่วนอื่นๆ ต่อไป และในเดือนมิถุนายน 2559 ที่จะถึงนี้ กรมฯ มีกำหนดเดินทางไปประเทศเมียนมาร์เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจอีกครั้งหนึ่ง ก่อนดำเนินการสรุปผลที่ได้รับ ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยจะนำมาปรับปรุงและพัฒนาการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านประเทศอื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการค้าส่ง-ปลีกไทย สนใจเข้าร่วมโครงการ หรือกิจกรรมที่กรมฯ จัดขึ้น สามารถติดต่อได้ที่ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร 0 2547 5986 หรือสายด่วน 1570 หรือ www.dbd.go.th