นักวิจัยสกว.ชี้โครงสร้างอาคาร
บ้านเรือนญี่ปุ่นได้มาตรฐาน75%
นักวิจัยด้านแผ่นดินไหว สกว. ชี้โครงสร้างอาคารบ้านเรือนในญี่ปุ่นยังไม่ได้มาตรฐานเต็มที่ มีเพียงร้อยละ 75 ที่สามารถต้านแผ่นดินไหวได้ ส่วนบ้านเรือนที่พังถล่มยังสร้างตามแบบแผนเดิมโดยเฉพาะหลังคากระเบื้องที่มีน้ำหนักมาก เสาไม้ขนาดเล็กและรอยต่อไม่แข็งแรง ทำให้เกิดแรงในโครงสร้างมหาศาลจนเกิดเหตุสลดเมื่อมีธรณีพิบัติ นอกจากนี้ยังมีอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่ก่อสร้างหลายชั้น ก่อนปี 1981 ที่มีการปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบต้านแผ่นดินไหว จึงไม่แข็งแรงพอที่จะต้านแผ่นดินไหว
ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงโครงสร้างอาคารบ้านเรือนถล่มพังเสียหายในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ว่านอกจากจะมีสาเหตุจากการเป็นแผ่นดินไหวระดับตื้น มีอัตราเร่งของแผ่นดินสูง และเกิดในที่ชุมชนซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้ยังตั้งสันนิษฐานว่าโครงสร้างของบ้านหลังเล็กๆ ในประเทศญี่ปุ่นอาจไม่แข็งแรงพอ ซึ่งอาจจะขัดกับความเชื่อของคนทั่วไปที่เข้าใจว่าประเทศญี่ปุ่นมีมาตรฐานการออกแบบอาคารที่ได้มาตรฐาน แต่ในความเป็นจริงแล้วบ้านหลังเล็กๆ ในญี่ปุ่นมักก่อสร้างตามแบบแผนที่เคยทำมาในอดีต ซึ่งเสานิยมก่อสร้างจากไม้ขนาดเล็ก รอยต่อระหว่างคานและเสาไม่แข็งแรงพอ ทั้งนี้สาเหตุสำคัญของการพังถล่ม คือ หลังคาที่ทำจากกระเบื้อง มีน้ำหนักมาก จึงทำให้เกิดแรงในโครงสร้างมหาศาล ประกอบกับเสาไม้ขนาดเล็กและรอยต่อไม่แข็งแรง จึงทำให้โครงสร้างพังถล่มจำนวนมาก
ส่วนอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่ก่อสร้างหลายชั้น และเกิดความเสียหายมากมายนั้น ศ. ดร.อมรวิเคราะห์ว่าน่าจะเกิดจากเป็นโครงสร้างที่ก่อสร้างมาก่อนจะมีการปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบต้านแผ่นดินไหว ทั้งนี้ประเทศญี่ปุ่นมีการปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบต้านแผ่นดินไหวหลักๆ 2 ครั้ง คือ ในปี 1981 และปี 1995 ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ ดังนั้นหากเป็นอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 1981 เชื่อว่าคงไม่แข็งแรงพอที่จะต้านแผ่นดินไหวอย่างแน่นอน
“อาคารในประเทศญี่ปุ่นมีเพียงร้อยละ 75 เท่านั้นที่ออกแบบและก่อสร้างได้มาตรฐานต้านแผ่นดินไหว แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะมีมาตรการให้เงินสนับสนุนบางส่วนแก่เจ้าของอาคารในการปรับปรุงอาคารเก่าให้ได้มาตรฐาน แต่เจ้าของอาคารบางส่วนก็ยังไม่ทำการปรับปรุงอาคาร จึงเป็นสาเหตุสำคัญให้อาคารที่อ่อนแอเหล่านี้พังถล่มเมื่อเกิดแผ่นดินไหว สำหรับในประเทศไทยพื้นที่ที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวในระดับปานกลาง เช่น ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอาคารที่มีโครงสร้างที่อ่อนแอเช่นกัน ดังนั้นการออกแบบอาคารใหม่จะต้องคำนึงแรงแผ่นดินไหว ส่วนอาคารเก่าก็ควรทำการประเมินว่าสามารถต้านแผ่นดินไหวได้ในระดับใด และต้องทำการปรับปรุงหรือเสริมความมั่นคงอาคารให้แข็งแรงต่อไป” ศ. ดร.อมรกล่าวทิ้งท้าย