‘คูปองวิทย์ฯ OTOP’ ตอบโจทย์
6 เดือนแรกแห่สมัคร 800 ราย
หลังกระทรวงวิทย์ฯ เริ่มโครงการ OTOP ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ปลายปี 2558 ในรูปแบบบูรณาการหน่วยงานในสังกัด ผ่านกลไก “คูปองวิทย์เพื่อ OTOP” ให้บริการวทน. 6 เรื่อง ได้แก่ พัฒนาคุณภาพชีวิต กระบวนการผลิต ออกแบบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ มาตรฐาน บรรจุภัณฑ์ และเครื่องจักร แก่ OTOP ทุกกลุ่มที่ต้องการก้าวสู่ SMEs ผลปรากฎ “คูปองวิทย์ฯ OTOP” ตอบโจทย์ชัด 6 เดือนแรกแห่สมัครเกือบ 800 ราย ผ่านเกณฑ์เกินครึ่ง คาดเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง รายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า5% ต่อราย
ทั้งนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.)เปิดตัวโครงการ ในงาน OTOP CITY เมืองทองธานี เมื่อปลายปี 2558 และจัดแถลงข่าวเปิดตัวเป็นทางการในเดือนมกราคม 2559 ก่อนจัดงาน OTOP สัญจร ใน 10 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาค โดยโครงการ “คูปองวิทย์เพื่อ OTOP” ครอบคลุมกลุ่มที่เริ่มต้นทำผลิตภัณฑ์ (Start Up) กลุ่ม OTOP ปัจจุบัน และกลุ่ม OTOP มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี วงเงิน 300,000 – 500,000 บาทต่อปีต่อราย โดยสัดส่วนการสนับสนุนเงินคูปองฯ จะดำเนินการผ่านหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) และสถาบันการศึกษา ร่วมกับเงินลงทุนของผู้ประกอบการ ตั้งแต่ 30% – 70% ขึ้นกับบริการและจำนวนการจ้างงาน ในส่วนของเงินลงทุนร่วมของผู้ประกอบการ อาจจะอยู่ในรูปวัตถุดิบ แรงงาน สถานที่ผลิต หรือการสนับสนุนของหน่วยงานในพื้นที่ที่ไม่อยู่ในรูปตัวเงิน
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลข่าวสารจากโฆษกรัฐบาล จะเห็นว่าท่านนายกรัฐมนตรีให้การสนับสนุนโครงการ “คูปองวิทย์เพื่อ OTOP” อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งกำชับให้ วท. ดูแลเรื่องการต่อยอดสนับสนุนผู้ประกอบการหลังได้รับเงินทุนหรือองค์ความรู้จากคูปองวิทย์ฯ ให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งตั้งแต่เปิดตัวโครงการมาเมื่อปลายปี 2558 วท.ได้เดินหน้าดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดงาน OTOP สัญจร จำนวน 10 ครั้ง ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย นครพนม มุกดาหาร สกลนคร อ่างทอง ปทุมธานี ตรัง สุราษฎร์ธานี ลำปาง และตราด
ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2558 – เมษายน 2559 มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 781 ราย และผ่านการพิจารณาครั้งที่ 1 มากถึง 419 ราย หรือร้อยละ 54 โดยในจำนวนนี้ วท. ได้ดำเนินการสนับสนุนคูปองวิทย์ฯ ไปแล้ว 95 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 315 ราย นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการที่ได้รับคำปรึกษาเชิงลึกและสามารถดำเนินการโดยไม่จำเป็นต้องใช้คูปองวิทย์เพื่อโอทอป อีกจำนวน 9 ราย และยังมีใบสมัครที่ วท.กำลังดำเนินการพิจารณาเพิ่มเติมอีก 333 ราย ซึ่งจากการยื่นใบสมัครทั้งหมดที่ผ่านมา มีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติเพียง 29 รายเท่านั้น ซึ่งถือเป็นส่วนน้อย
ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ผ่านการพิจารณาในรอบแรกนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุดถึง 266 ราย (ร้อยละ 63) รองลงมา คือ กลุ่มสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 50 ราย กลุ่มของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก จำนวน 47 ราย กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 41 ราย และกลุ่มอื่นๆ จำนวน 15 ราย ใน 73 จังหวัดทั่วประเทศ โดย ดำเนินงานผ่านการจัดกิจกรรมบูรณาการเชื่อมโยงเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น การประชุมหารือเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP กับ หน่วยงานสถาบันการเงิน และ หน่วยงาน E-commerce เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2559 เพื่อเตรียมช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ (e-market place) สำหรับผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้น
อีกทั้งการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอปใน 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาวัตถุดิบ/การผลิตต้นน้ำ มาตรฐาน และการตลาด ตลอดจนการจัดงาน Business Matching Big Day ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 เพื่อนำไปสู่การจัดงานครั้งยิ่งใหญ่ระดับชาติ “ประชารัฐร่วมใจพัฒนา OTOP” ในเดือนสิงหาคม 2559 ต่อไป ซี่งภายในงานจะมีการการลงนามความร่วมมือในการพัฒนา OTOP ด้วย วทน. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
โดยคาดหวังความสำเร็จโครงการ “คูปองวิทย์เพื่อโอทอป” จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่พัฒนาด้วย วทน. จะทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อราย และสามารถขายเชิงพาณิชย์ได้ร้อยละ 30 คาดการณ์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานรากประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Call Center 1313 หรือสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี 0 2333 3941