3องค์กรเอกชนจัดใหญ่สู้ภัยแล้ง
PTTGCโชว์ ‘ลดพึ่งน้ำธรรมชาติ’
ปี 2559 ประเทศไทยต้องกลับมาเผชิญภาวะภัยแล้งที่จัดว่าหนักสุดในรอบ 2 ทศวรรษ โดยปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2558 ที่ปริมาณฝนทิ้งช่วงทำให้การสะสมน้ำในเขื่อนหลายเขื่อนทั่วประเทศมีไม่เพียงพอ หลายพื้นที่ ต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลน “น้ำ” เพื่อการอุปโภคและบริโภครวมถึงภาคการเกษตรที่ดูจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และกำลังเป็นปัจจัยซ้ำเติมต่ออัตราการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ขณะนี้ก็เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกระทบโดยตรงมายังภาคการส่งออกของไทยที่ติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี
สถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักคงต้องลุ้นให้ฝนฟ้าเป็นใจมาตามฤดูกาลเพราะหากล่าช้าออกไปวิกฤติก็จะยิ่งหนักขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือวันนี้ทุกฝ่ายต้องทำอะไรสักอย่างก่อนที่ปัญหาจะหนักขึ้นโดยน่าดีใจที่ภาคเอกชนมีการตื่นตัวกับปัญหานี้โดยในวันที่ 29 มีนาคม2559ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือ “กกร.” ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทยมีการระดมความคิดเห็นและกำหนดเป้าหมายหลักให้ธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรม และบ้านเรือน ลดปริมาณการใช้น้ำประปาลง 30% ภายในเดือนมิถุนายน2559 เบื้องต้นมีหน่วยงาน 100 รายเป็นโมเดลลดใช้น้ำและช่วยบรรเทาผลกระทบปัญหาวิกฤตภัยแล้งให้กับชุมชนและภาคเกษตรในพื้นที่ใกล้เคียง
นายบวร วงศ์สินอุดมประธานสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่ากกร.ได้ขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกส.อ.ท.ประมาณ 9,400 รายที่ใช้น้ำในกระบวนการผลิต ปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำบาดาลมากขึ้น แม้มีต้นทุนแพงกว่าแต่จะช่วยลดการขาดแคลนน้ำผิวดินได้ในช่วงภัยแล้งและการจัดงาน “กกร.” รวมใจใช้น้ำประหยัด” จะมีการสัมมนาที่จะแนะนำวิธีต่างๆในการลดใช้น้ำจากภาคอุตสาหกรรมตัวอย่างมากมายซึ่งเราหวังว่าจะกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวจากทุกฝ่ายซึ่งไม่ใช่เพียงภาคใดภาคหนึ่งที่ต้องลดการใช้น้ำ
นายสุพัฒนพงษ์พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มปตท.ที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นกล่าวว่า PTTGC มีการบริหารจัดการน้ำให้เห็นเป็นรูปธรรมค่อนข้างมากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาแม้ว่าเขตพื้นที่ภาคตะวันออกจะไม่ประสบกับปัญหาภัยแล้งในปีนี้แต่ PTTGC ไม่นิ่งนอนใจมีการดำเนินการการบริหารจัดการใช้น้ำอย่างต่อเนื่องทั้งเก็บข้อมูลการใช้น้ำและการเพิ่มประสิทธิภาพการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย. 2559 เพื่อช่วยลดการใช้น้ำลงตามมาตรการของรัฐโดยในปี 2559 บริษัทฯวางเป้าหมายที่จะมีการนำน้ำกลับมาใช้ให้ได้ 40-47% ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯได้นำเทคโนโลยีการผลิตน้ำจากระบบ น้ำทิ้งที่ได้จากกระบวนการผลิตนำกลับมาใช้ใหม่ (Waste Water ReverseOsmosis หรือ RO) ซึ่งดำเนินการมาเกือบ 10 ปี
เดิมบริษัทฯได้ทิ้งน้ำในส่วนนี้ไปโดยเปล่าประโยชน์จึงมีแนวคิดนำน้ำกลับมาใช้ให้มากสุดโดยในปี 2558 ระบบRO ทำให้บริษัทฯสามารถนำน้ำกลับมาได้ 904,842 ลูกบาศก์เมตรคิดเป็น 36.8% ของน้ำทิ้งจากโรงงานโดยส่วนใหญ่จะนำกลับไปใช้ในระบบหล่อเย็นของโรงงาน จากเดิมที่ต้องทิ้งน้ำทั้งหมด
ทั้งนี้ PTTGC มีแผนบริหารจัดการน้ำทั้งภายในและนอกองค์กรโดยมุ่งเน้นการดำเนินการตาม 3 แนวทางหลัก ได้แก่1) Water Saving เป็นการดำเนินการลดปริมาณการใช้น้ำตามหลักการ 3Rs (Reduce, Reuse,Recycle) เพื่อใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 2) Water Innovation เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนน้ำดิบ และลดการใช้น้ำแหล่งเดียวกับชุมชน โดยการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล 3) Water Stewardship เพื่อประเมินการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยจัดทำรอยเท้าน้ำ หรือ Water Footprint พร้อมทั้งได้ตั้งเป้าหมายลดปริมาณการใช้น้ำต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ลง 10% จากการดำเนินงานตามปกติภายในปี 2566 เทียบกับปี 2556 เพื่อให้การใช้ทรัพยากรน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับแผนการบริหารจัดน้ำภายนอกองค์กรซึ่งเป็นแผนระยะยาว ได้ร่วมกับกลุ่ม ปตท. (PTT Group Water Management Team:PTTWT) ที่จะมีคณะทำงานในการประเมินร่วมกันทุกไตรมาสเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกรวมถึงวิเคราะห์และจัดทำแผนงานการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของ กลุ่ม ปตท.ซึ่งรวมถึงแผนการอนุรักษ์น้ำ (Water Conservation) ในโครงการเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำเช่น โครงการฟื้นป่า รักษ์น้ำเขาห้วยมะหาด การมอบถังน้ำสะอาด InnoPlus ให้กับผู้ประสบภัยแล้ง เป็นต้น
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำจากภาคเอกชนซึ่งเชื่อว่าขณะนี้บริษัทใหญ่ๆหลายแห่งไม่เพียงแต่กลุ่ม “ปตท.” กลุ่มเครือซิเมนต์ไทยเครือเจริญโภคภัณฑ์(CP)สหพัฒน์ฯ “อมตะ” ฯลฯ ที่ยังไม่ได้เอ่ยอีกจำนวนมากก็ล้วนแต่เริ่มให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำอย่างมาก
แต่เหนือสิ่งอื่นใดการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างยั่งยืนต้องทำในหลายส่วน เพราะการใช้น้ำมีการเติบโตทุกปี ทั้งการอุปโภคและบริโภคการลงทุนพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการก็ยังมีส่วนสำคัญซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลปัจจุบันกำลังแก้ไขปัญหาอยู่โดยเฉพาะการช่วยเหลือภาคเกษตรที่เป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทย