กรมโรงงานฯจับมือพีดีไอ
ศึกษาตั้งศูนย์จัดการกากอุตฯ
กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด(พีดีไอ) ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU)เพื่อศึกษาความเป็นไปได้จัดตั้งศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรม ได้แก่ โครงการจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร จ.ตาก รองรับการจัดการกากอุตสาหกรรมเขตภาคตะวันตก ภาคเหนือ และเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด และ โครงการรีไซเคิลโลหะและวัสดุในกากอุตสาหกรรม จ.ระยอง รองรับฝุ่นจากโรงหลอมเหล็ก ที่มีโลหะและพลาสติกเป็นส่วนประกอบ คาดทั้ง 2 ศูนย์รองรับกากอุตสาหกรรมราว8 หมื่นตันต่อปี
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากที่รัฐบาลเห็นชอบโรดแมปการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย โดยสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำมาตรการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตรายและส่งเสริมการก่อสร้างโรงงานบำบัด/ กำจัด/ รีไซเคิลเพิ่มเติม ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดทำแผนการจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ. 2558 – 2562 กำหนดยุทธศาสตร์รองรับภารกิจตามนโยบายดังกล่าว เพื่อให้กากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบบริหารจัดการได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยล่าสุดในปี 2558 การดำเนินงานได้เริ่มดำเนินการตามแผนไปแล้วร้อยละ 25 มีโรงงานลงทะเบียนเข้าสู่ระบบอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มจากเดิมร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 75 หรือกว่า 51,000 โรงงาน ซึ่งส่งผลให้มีกากอุตสาหกรรม เข้าสู่ระบบจำนวน 27.37 ล้านตัน หรือร้อยละ 73 เมื่อเทียบกับปริมาณกากฯ ที่ประเมินไว้ 37.42 ล้านตัน โดยกากฯ ที่เข้าระบบนี้ เป็นกากฯ อันตราย จำนวน 1.32 ล้านตัน และกากฯ ไม่อันตราย จำนวน 26.05 ล้านตัน
ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า เพื่อให้กากอุตสาหกรรมได้มีการจัดการกากฯ เข้าสู่ระบบมากยิ่งขึ้น จึงต้องมีการศึกษาพื้นที่รองรับกากฯ สำหรับการพัฒนาเป็นศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรมแบบบูรณาการในอนาคตอีก 20 – 30 ปีข้างหน้า โดยกระทรวงฯ ได้ร่วมกับองค์การพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและพลังงานใหม่ (NEDO) กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม แห่งประเทศญี่ปุ่น (METI) ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรม โดยพบว่า มีจํานวน 15 จังหวัด ใน 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ลําปาง ลําพูน ภาคตะวันตกกาญจนบุรี ราชบุรี ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมาขอนแก่น ภาคตะวันออก ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว ภาคกลาง สมุทรสาคร สระบุรี ภาคใต้ นครศรีธรรมราช สงขลา มีความเหมาะสมในการจัดตั้งศูนย์ฯ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ที่ผ่นามา และได้ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกรมโรงงานอุตสาหกรรมนำผลการศึกษาเพื่อเชิญชวนเอกชนให้มาลงทุนพัฒนาศูนย์จัดการฯ หรือนิคมฯ ซึ่งการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นความคืบหน้าของผลการดำเนินการตามแผนจัดการกากอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศให้เป็นไปอย่างยั่งยืน สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมปลายท่อและให้เกิดการจัดการของเสียที่ได้มาตรฐานและครอบคลุมทุกภูมิภาค
ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรม ได้นำร่องลงนามความร่วมมือกับ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จํากัด (มหาชน) ในการจัดตั้งศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจรที่ตาก ซึ่งจะรองรับกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทยได้ประมาณ 30,000 – 50,000 ตันต่อปี และโครงการรีไซเคิลวัสดุโลหะที่อยู่ในกากอุตสาหกรรม ที่ระยอง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีการจัดการที่เหมาะสมในประเทศไทย อาทิ ฝุ่นจากโรงหลอมเหล็ก (ฝุ่นแดง) และของเสียที่มีโลหะและพลาสติกเป็นองค์ประกอบ โดยจะนำมาผ่านกระบวนการที่ใช้อุณหภูมิสูงมากเป็นพิเศษ ซึ่งรองรับกากอุตสาหกรรมได้ประมาณ 50,000 ตันต่อปี โดยขั้นตอนการดำเนินงาน กรมโรงงานฯ จะจัดตั้งคณะทํางานร่วมกับบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จํากัด (มหาชน) ศึกษาความเป็นไปได้โดยละเอียดต่อไป หากโครงการทั้งสองสำเร็จจะเพิ่มความสามารถในการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศได้อีกประมาณ 8 หมื่นตันต่อปี ในระยะ 5 ปี ข้างหน้า
ฝ่ายนายอาสา สารสิน ประธานกรรมการบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือพีดีไอ กล่าวว่า พีดีไอมีเป้าหมายดำเนินธุรกิจสีเขียวที่สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการลงทุนธุรกิจบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรที่ จ.ตาก และการรีไซเคิลวัสดุที่ จ.ระยอง ซึ่งความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์จัดการกากดังกล่าว พีดีไอ ได้ร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศด้านการรีไซเคิลและจัดการกากอุตสาหกรรม ในสัดส่วน 51 : 49 รวมมูลค่าโครงการทั้งสองอยู่ที่ 1,000-1,500 ล้านบาทใช้ทั้งเงินลงทุนของตัวเองและเงินกู้ ซึ่งถือเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกที่มาลงทุนทำทั้ง 2 โครงการ โดยโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ตาก มีพื้นที่ 250 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 840 ไร่
โดยจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้กับโครงการฯ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของยุโรปและญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดการจัดการกากอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้มีความคล่องตัวในการดำเนินโครงการมากขึ้น ซึ่งทำให้พีดีไอมีความมั่นใจในการลงทุนและสามารถดำเนินโครงการให้บรรลุผลสำเร็จได้
“คาดว่า การศึกษาความเป็นไปได้เพื่อดำเนินโครงการทั้ง 2 แห่งใช้เวลาไม่นาน เชื่อศึกษาแล้วเสร็จภายในสิ้นปีและสามารถดำเนินการได้ราวปี 2562 โดยในระหว่างนี้จะมีการทำประชาพิจารณ์ควบคู่กันไปด้วย”