กระทรวงวิทย์ร่วมพันธมิตรพร้อม
จัด “Startup Thailand 2016”
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯผนึก 11 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดงาน “Startup Thailand 2016” วันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดึงประชาชนและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ร่วมเรียนรู้ระบบเศรษฐกิจStartup ร่วมสร้างธุรกิจใหม่เข้มแข็งเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ระบุรัฐเตรียมปัจจัยพื้นฐานเอื้อStart upทำธุรกิจ รวมกองทุนจาก 3 แบงก์ ออมสิน กรุงไทยและเอสเอ็มอีแบงก์แห่งละ 2 พันล้านบาท กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ 1 หมื่นล้านบาทและกองทุนร่วมทุน
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมพันธมิตร 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เครือข่ายประชารัฐ และประชาคมสตาร์ทอัพไทย จัด “Startup Thailand 2016” ระหว่างวันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจะเป็นมหกรรมยิ่งใหญ่แห่งปีครั้งแรกในประเทศไทย เป็นเวทีเปิดตัวธุรกิจStartup มากกว่า 180ราย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจ Startup ให้เกิดการขยายธุรกิจและการสร้างตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดดและสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีของประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯกล่าวว่า “ในการประชุมครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2559 ของคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีเป็นประธานมีมติมอบหมายกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นตัวแทนรัฐบาลและเจ้าภาพหลักในการจัดงาน เพื่อขับเคลื่อนและมุ่งมั่นที่จะนำประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมศูนย์กลางของอาเซียน จึงเชิญชวนเหล่า Startup ให้มาร่วมงานเพื่อเรียนรู้ว่า ระบบเศรษฐกิจ Startup เป็นอย่างไร เส้นทางสู่ความสำเร็จ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไอซีที(ICT) และสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนมีอะไรบ้าง
“เราต้องพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยสร้างธุรกิจใหม่ให้มีความเข้มแข็งและทำให้คนธรรมดาสามารถที่จะทำธุรกิจได้”
ทั้งนี้ดร.พิเชฐกล่าวต่อว่า เวลานี้มีโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างที่จะสนับสนุนเหล่า Startup อาทิ กองทุนจาก 3 ธนาคารของรัฐได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทยและธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) แห่งละ 2,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังยังกำลังผลักดันกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เงินกองทุน 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ภาครัฐยังเอื้อเอกชนลงทุนในระบบมากขึ้นผ่านกองทุนร่วมลงทุนหรือ Venture Capital ซึ่งรัฐจัดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีให้ ทำให้เอกชนหลังร่วมลงทุนแล้ว เงินปันผลและกำไรได้รับการลดหย่อนภาษี
นอกเหนือจากนี้ภาครัฐยังร่วมกับเอกชนเพื่อจะจัดตั้งเขต Startup District ขึ้นเป็นพื้นที่สำหรับสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยขณะนี้กระทรวงวิทย์ฯกำลังประสานงานจุดที่จะทำ เช่น ที่สยามสแควร์ และในส่วนภูมิภาค เช่น ถนนนิมมานเหมินทร์ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันจำนวนนักธุรกิจStartup ในประเทศไทยมีไม่มากเพียงประมาณ 1,000 – 2,500 ราย และในปีนี้รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เกิดธุรกิจStartupให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการขยายฐานเศรษฐกิจและการกระจายตัวให้มากที่สุด
“การจัดงาน “Startup Thailand 2016” ครั้งนี้จะเป็นการรวบรวม Startup และหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับ Startup ทุกภาคส่วนเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและยังมี Startup จากต่างประเทศมาร่วมด้วย 10 ประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐที่ดูแลด้านStartup มาเอง นอกจากนี้ยังมีจีน อิสราเอล ไต้หวัน ญี่ปุ่น จัดบูธร่วมงาน งานนีี้ถือเป็นงานสำคัญและหลังจากนี้จะมีการประชาสัมพันธ์ไปตลอดทั้งปี”
ด้านดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวว่า เมื่อพูดถึง Startup จะต้องนึกถึงเทคโนโลยี ICT ที่นำมาใช้ในการผลิต การดีไซน์เพื่อให้เกิดนวัตกรรมหรือสินค้าขึ้น การจัดงานนี้จึงเป็นโอกาสดีให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีและทำให้ต่างประเทศได้เห็นศักยภาพ พลังการคิดสร้างสรรค์ของคนไทย เป็นความร่วมมือของภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา
รัฐมนตรีกระทรวงไอซีทียังเปิดเผยด้วยว่า ในปี 2559 นี้กระทรวงฯได้จัดสรรงบประมาณเป็นมูลค่า 25,000 ล้านบาทเพื่องานด้าน Startup โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และกำลังผลักดันร่างกฎหมายกองทุนดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มูลค่า 10,000 ล้านบาท( ที่แยกต่างหากจากกองทุนที่กระทรวงการคลังเสนอ) เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีกลางเดือนหน้า ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการพัฒนาคนและ Startup ,การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ และด้านการวิจัยและพัฒนา ที่อาจอยู่ในรูปของการร่วมทุน การให้กู้และการสนับสนุนทุนวิจัย
นอกเหนือจากนี้กระทรวงไอซีทียังร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้มีการเชื่อมโยงศูนย์บ่มเพาะดิจิทัลของแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นเครือข่ายสำหรับ Startup ด้านดิจิทัล คาดทำได้ภายในปีนี้ โดยมุ่งผลิตบุคลากรดิจิทัลสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างคนดิจิทัลหนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ,สจล.สร้างคนหนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และมหาวิทยาลัยศรีปทุมสร้างคนหนุนงานด้านพัฒนาคอนเทนต์และแอนนิเมชั่น เป็นต้น
อนึ่งงานจะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Unite to Rise” หรือ “รวมพลัง Startup เพื่อก้าวต่อไปของเศรษฐกิจไทย” ซึ่งStartup แบ่งได้เป็น 8 ประเภทคือ ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเกษตร (AgriTech) ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม (IndustryTech) ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ (GovTech&EducationTech) ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านอสังหาริมทรัพย์ (PropertyTech) ธุรกิจสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน (Lifestyle – Travel – Media) ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเข้าถึงสินค้า (E-Commerce & Logistic) ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเงิน (FinTech) ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการแพทย์และยารักษาโรค(MedTech& Healthcare)
นอกเหนือจากการรวมตัวกันของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจากอีกหลายหน่วยงานมาร่วมกันค้นพบกับธุรกิจแนวใหม่และนวัตกรรมโมเดลธุรกิจที่ทำให้ธุรกิจเติบโตในเวลาอันรวดเร็วที่ไม่ควรพลาด ซึ่งงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
พิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการจะจัดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน 2559 พร้อมด้วยปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “วิสัยทัศน์และพลังสร้างชาติด้วย Startup Thailand” โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ “การขับเคลื่อน Startup Thailand : ฐานเศรษฐกิจใหม่ของไทย” โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและ “Creative Economy : A Platform for Korean Startup Development” โดย ฯพณฯ ชเวยางฮี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวางแผนอนาคต ประเทศเกาหลีใต้
พร้อมกันนี้ยังเปิดเวทีสัมมนาโดยเชิญ Startup ที่มีเชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศกว่า 10 ประเทศ อาทิ หัวข้อ “Startup & New Investment Opportunities in Asia” โดย นายเดฟ แมคเคลอร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง “500Startups”รวมถึงหัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจและมีประโยชน์อีกมากมายตลอดภายในงานทั้ง 4 วัน
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้กับ Startup รุ่นใหม่ ยังมีการจัดแข่งขัน Pitching Challenge ให้เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของงานนี้ด้วย โดยจะประกาศผล Startup ที่ผ่านการคัดเลือก 10 ทีมสุดท้าย และจะตัดสินรอบชิงชนะเลิศด้วยการให้ Startup แต่ละทีมนำเสนอแผนของตนเองเป็นภาษาอังกฤษ ทีมละ 5 นาที ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 520,000 บาท ในวันที่ 30 เมษายน 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-017-5555 call center : 1313 อีเมล์: contact@thailandstartup.orgเว็บไซต์: www.thailandstartup.orgหรือ Facebook: www.facebook.com/ThailandStartup