“สวทช.จับมือมทร.ล้านนา”
สร้างเครือข่ายITAPหนุนSMEsเหนือ
สวทช. โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. ลงนามความร่วมมือโปรแกรม ITAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา(มทร.ล้านนา) โดยมีดร.ภาสวรรธน์ วัชดำรงศักดิ์ รองอธิการบดีมทร.ล้านนาด้านวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ร่วมลงนาม มุ่งสนับสนุน SMEs โตอย่างยั่งยืนด้วยการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ผ่านกลไกบริหารแบบ ITAP ตั้งเป้าช่วยSMEsไม่น้อยกว่า 50 รายต่อปี ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ใช้ศักยภาพมทร.ล้านนาที่มีวิทยาเขตในเชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง พิษณุโลก และตาก
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation and Technology Assistance Program หรือ ITAP) เป็นหน่วยงานภายใต้ สวทช. ดำเนินงานเพื่อพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสูงขึ้น ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยใช้กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การร่วมงานกับ ITAP เปรียบเสมือน SMEs ได้มีหน่วยวิจัยและพัฒนา (R&D) เฉพาะกิจ และมีผู้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเทคโนโลยีช่วยบริหารโครงการวิจัยให้ พร้อมทั้งเสาะหาผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและหัวข้อที่ต้องการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรม รวมทั้งมีเงินทุนสนับสนุนการทำวิจัย ทำให้ SMEs ลดความเสี่ยงในการทำโครงการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม”
“สวทช. ได้ดำเนินโปรแกรม ITAP มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ให้การสนับสนุน SMEs ไปแล้วไม่น้อยกว่า 7,000 ราย และในปีงบประมาณ 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการสร้างความเข้มแข็งของ SMEs ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ โดยอนุมัติให้ ITAP สนับสนุน SMEs จำนวนมากขึ้นเป็น 2 เท่า (จาก 400 โครงการในปีก่อนหน้าเป็น 800 โครงการ) และมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นในแต่ละปี โดยในปีงบประมาณ 2563 จะสามารถสนับสนุน SME ได้ 3,000 รายต่อปี ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ITAP จึงได้มุ่งเน้นการบูรณาการทำงานร่วมกับพันธมิตรโดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและองค์ความรู้ โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาในรูปแบบเครือข่าย ITAP ครั้งนี้ จะทำให้ ITAP สามารถให้ความช่วยเหลือ SMEs ได้ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด เนื่องจาก มทร.ล้านนา มีวิทยาเขตทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง พิษณุโลก และตาก โดยมหาวิทยาลัยจะนำกลไก ITAP ไปใช้ในการสนับสนุน SMEs ซึ่งประโยชน์ที่ภาคอุตสาหกรรมและประเทศจะได้รับคือ จะเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้การ สนับสนุนแก้ไขปัญหา และทำวิจัยพัฒนา ที่ครอบคลุมหลากหลายสาขามากขึ้น เข้าถึงเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น และจะมีจำนวน SMEs ที่ได้รับการสนับสนุนมากขึ้น”
ดร.ภาสวรรธน์ วัชดำรงศักดิ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อชุมชน มหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมีสถาบันวิจัยและพัฒนา สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร และสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน โดยมีพันธกิจที่มุ่งเน้นการสร้างงานวิจัยองค์ความรู้และนวัตกรรมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อชุมชน และด้วยการตระหนักถึงความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงเล็งเห็นประโยชน์ของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือโปรแกรม ITAP จึงตกลงความร่วมมือกับ สวทช. ในการดำเนินงาน ‘เครือข่ายโปรแกรม ITAP มทร.ล้านนา’ เพื่อมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือ SMEs ในพื้นที่ภาคเหนือเป็นเป้าหมายหลัก ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี การพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการเชื่อมโยงสู่การให้บริการสนับสนุนแก่ภาคเอกชนของ สวทช. เพื่อพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีของ SMEs ให้มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสูงขึ้น เกิดการสร้างนวัตกรรมและพึ่งพาตนเองได้ด้วยเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าสนับสนุนไม่น้อยกว่า 50 รายต่อปี ในระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี”